ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“บ้านสระไม้แดง”หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

สิ่งแวดล้อม
14 ธ.ค. 59
11:06
6,499
Logo Thai PBS
“บ้านสระไม้แดง”หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
เปิดตัวหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ในอ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ปลูกพืชให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ จนคุณภาพชีวิตดีขึ้น

การเพาะเห็ดฟางกลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านสระไม้แดง หมู่ที่ 5 ตำบลคู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา หลังก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตร เพราะสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย ทั้งปัญหาดินและน้ำทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกไป แต่หลังจากที่ผู้นำชุมชนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จึงปรับเปลี่ยนเป็นการเพาะเห็ดฟางสร้างรายได้ทดแทนในช่วงที่ไม่สามารถทำนาได้

สุกัลยา ภูสมที ชาวบ้านสระไม้แดง บอกว่า การเพาะเห็ดฟางจะใช้เวลาเพียง 10 วัน และในรอบหนึ่งเดือน สามารถเก็บเห็ดฟางได้ 3-4 ครั้งทำให้มีรายได้เสริมหลังทำนา

ชาวบ้านที่นี่ใช้วิธีการเพาะเห็ดแบบกองเตี้ย เนื่องจากได้ผลดีกว่าการเพาะในโรงเรือน ใต้กองเห็ดยังเป็นปุ๋ย ที่สามารถนำมาใช้พืชผลทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี


บ้านสระไม้แดงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี 2554 และได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็น เป็นสุข

นอกจากนี้ ชุมชนยังช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีรายได้ ด้วยการทำอาชีพจักรสาน เช่น ไม้ที่ใช้สำหรับเพาะเห็ด หรือสานตะกร้า ชุมชนยังสนับสนุนให้ชาวบ้านเก็บออม โดยจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระไม้แดง ถือเป็นแหล่งทุนของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีเงินทุนไปใช้ในการประกอบอาชีพ

 


ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 341 คนแล้ว ซึ่งผู้ที่จะเป็นสมาชิกสหกรณ์นั้นต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่ที่ 5 ต้องซื้อหุ้นอย่างน้อย 2 หุ้น หุ้นละ 10 บาท รับฝากเงินทุกวันที่ 5 ของเดือน และปล่อยกู้ทุก 3 เดือนต่อครั้ง ผู้กู้ต้องมีสมาชิกรับรอง และสามารถกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปีขณะเดียวกันสมาชิกจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไร และอีกร้อยละ 50 เข้ากองทุนของสหกรณ์และยังมีสวัสดิการเงินฌาปนกิจด้วย

ความสำเร็จของบ้านสระไม้แดงคือการมีพัฒนาที่เป็นรูปธรรมอันเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ และความสามัคคีของทุกคน ที่ต้องการเห็นชุมชนน่าอยู่ คนในชุมชนมีอาชีพมีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ และการขับเคลื่อนงานในชุมชนต้องมีการทำประชาคม รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อบรรจุไว้ในแผนชุมชนโดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นหลัก



ข่าวที่เกี่ยวข้อง