วันนี้ (14 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้ติดตามความคืบหน้า กสทช. กรณีการกำกับให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมคิดค่าโทรเป็นวินาทีมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้กำหนดเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ 4G แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ การคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงมีการปัดเศษเป็นนาทีเช่นเดิม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 29/2559 ได้พิจารณาเรื่องแนวทางบังคับผู้ให้บริการคิดค่าบริการเสียงตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค.ครั้งที่ 10/2559 เมื่อ 17 พ.ค.2559 เคยมีมติให้ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz (คลื่น 4G) จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที ทุกรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการให้ใช้คลื่นความถี่ที่กำหนดให้ “ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มีความชัดเจน และการให้บริการที่มีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด” โดยมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยว่าต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง
อย่างไรก็ดี ภายหลังจาก กทค.มีมติดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอเรื่องให้ที่ประชุม กทค.พิจารณาทบทวนมติในการประชุมครั้งล่าสุดนี้
ข้อเสนอคือจะมีการกำกับดูแลให้แต่ละบริษัทฯ มีรายการส่งเสริมการขายที่คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้น มิใช่คิดในอัตราวินาทีทั้งระบบ
ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการฯ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คอบช.
ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการฯ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คอบช.กล่าวว่า มติให้ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz (คลื่น 4G) จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้เคยมอบนโยบายชัดเจน ตั้งแต่ต้นปี 2558 ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นจริง กสทช. ย่อมทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าว ควรพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
ที่ผ่านมา แม้ กสทช.จะเรียกผู้ให้บริการมาพูดคุยเพื่อกำหนดค่าบริการตามจริง แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคจริง เนื่องจากรายการส่งเสริมการขายของแต่ละบริษัทฯ เป็นการผลิตแพคเกจวินาทีที่มีเจตนาทำให้ราคาเฉลี่ยสูงกว่าแพคเกจปัดเศษ จนผู้บริโภคไม่สนใจเลือกไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.)
“เวลาเราซื้อของแล้วโดนชาวบ้านโกงตาชั่ง เรายังไม่ยอมเลย หรือเวลาไปซื้อของในห้าง ถ้าโดนคิดตังค์เกิน เรายังไม่ยอมเลย หรือเวลาเราไปเติมน้ำมันรถ แม้ราคาหน้าปั๊มจะระบุเป็นลิตร แต่หากเราเติมไม่ครบลิตร เช่น 15.7 ลิตร เราก็จะจ่ายแค่ 15.7 ลิตรตามจริง ไม่มีปั๊มไหนที่จะปัดเศษให้ผู้บริโภคต้องจ่าย 16 ลิตร ซึ่งค่าโทรศัพท์ควรคิดค่าบริการตามการใช้จริงเหมือนกัน” ผศ.รุจน์ ระบุ
ผศ.รุจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการฯ จึงเสนอเรื่องให้ คปอช. แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวของ กสทช. เนื่องจากเลขหมายที่มีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษเป็นนาที ไม่ใช่เพียงของผู้บริโภคแต่รวมถึงเลขหมายที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ใช้อยู่ด้วย ดังนั้นการแก้ไขมติดังกล่าว นอกจากผู้บริโภคจะเสียประโยชน์แล้ว รัฐยังเป็นผู้เสียหายด้วย จึงต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของแผ่นดิน
ด้าน น.ส.ชลดา บุญเกษม กรรมการ คอบช. เขตภาคกลาง กล่าวว่า ผู้บริโภคเสียหายและถูกเอาเปรียบมาก เช่น บางรายต้องมีโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง เพื่อที่จะดูว่าค่าบริการใกล้จะครบจำนวนเหมาจ่ายแล้วหรือยัง เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย หรือเปลี่ยนไปใช้เครื่องอื่นที่ยังไม่ครบจำนวนนาทีตามแพคเกจ
การที่ กทค.จะมีการทบทวนมติดังกล่าว ถือว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคและเข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้บริโภคและหลายภาคส่วนได้เรียกร้องมาโดยตลอดในเรื่องนี้ คอบช. เคยสำรวจโปรวินาทีที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ พบว่าโปรวินาทีที่ออกมามีราคาที่ไม่เป็นธรรม และไม่ได้ตอบสนองเรื่องการไม่ปัดเศษเป็นวินาทีอย่างแท้จริง
กสทช.ต้องกำกับดูแลให้แต่ละบริษัทฯ ปฏิบัติตามให้มีรายการส่งเสริมการขายทุกรายการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที หากจะแก้ไขมติให้มีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้น มิใช่คิดในอัตราวินาทีทั้งระบบ ก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และยังทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบเหมือนเดิม
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลชนฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตอบหนังสือ คอบช. ว่า ผู้แทน กสทช. ชี้แจงว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมออกประกาศ กสทช. เรื่อง “การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่าย หรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ...... ” ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวก็ไม่ได้มีการระบุเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ
ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเกือบ 2 ปีแล้ว ทั้งที่เรื่องนี้ได้รับการยืนยันว่าจะมีการปฏิบัติแบบเป็นขั้นตอนและบังคับใช้เป็นการทั่วไปเป็นวินาที กทค. ยังไม่สามารถบังคับให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติได้ สปช. ได้ศึกษาเรื่องการปัดเศษค่าโทรเป็นนาที พบว่าค่าโทรศัพท์หากคิดเป็นนาที เมื่อโทรเกิน 1 นาที ก็จะปัดเศษวินาทีให้เป็นหนึ่งนาที
ขณะที่ผู้ประกอบการคิดค่าเชื่อมต่อระหว่างกันตามจริงเป็นวินาที มูลค่าความเสียหายต่อผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 3,200 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริงโดยคิดเป็นวินาที และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศก็สนับสนุนการดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ให้ถูกผู้ประกอบการธุรกิจบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เอาเปรียบในเรื่องการคิดค่าบริการ เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์ตามจริงเป็นวินาที สะท้อนความบกพร่องของระบบการคุ้มครองได้เป็นอย่างดี ต้องถือว่า กสทช. มีภูมิคุ้มกันมาก หากเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ที่รัฐบาลยุบและยกเลิก แต่ขณะที่ กสทช. ยังทำงานคุ้มครองผู้บริโภคน้อยตามปกติแต่ก็อยู่ได้อย่างสุขสบาย น.ส.สารี กล่าว