ก่อนจะควักเงินซื้อสินค้าและบริการโดยหวังจะนำไปลดหย่อนภาษีตามมาตรการช็อปช่วยชาตินี้ ต้องพิจารณาเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนว่า การจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง นอกเหนือจากเงื่อนไขด้านระยะเวลาที่ต้องซื้อระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค.2559 และจะต้องขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบแล้ว ยังมีเงื่อนไขเรื่องของประเภทสินค้าและบริการอีกด้วย
สินค้า-บริการ ที่ขอลดหย่อนภาษีได้
- สินค้าที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าที่จดทะเบียนถูกต้อง
- อาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นสุรา เบียร์ ไวน์) ตามภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือในโรงแรม
- ค่าใช้จ่ายในการเสริมสวย นวดหน้า สปา แต่หากซื้อแพคเกจก็ต้องใช้ให้หมดภายใน 31 ธ.ค.
- ซื้ออะไหล่รถ อุปกรณ์แต่งรถ ซ่อมรถ แต่ต้องซ่อมเสร็จและจ่ายเงินภายใน 31 ธ.ค.
- ซื้อทองรูปพรรณ นำค่ากำเหน็จไปขอลดหย่อนภาษีได้
สินค้า-บริการ ที่ขอลดหย่อนภาษีไม่ได้
- สุรา เบียร์ ไวน์ บุหรี่
- รถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ
- การทำศัลยกรรม ค่ารักษาพยาบาล ใช้สิทธิ์ขอลดหย่อนไม่ได้เพราะการให้บริการสถานพยาบาลได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว
- ทองคำแท่ง ขอลดหย่อนไม่ได้เพราะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว
- ค่าน้ำประปาไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ไม่ได้รับการลดหย่อน เพราะเป็นการชำระค่าสินค้าและบริการของเดือนก่อน
- ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซ
สินค้า-บริการที่ขอลดหย่อนภาษีได้ตามมาตรการ "เที่ยวช่วยชาติ"
ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเดินทางท่องเที่ยวหรือมาตรการ "เที่ยวช่วยชาติ" โดยสินค้าและบริการที่นำไปขอลดหย่อนภาษีได้ตามมาตรการนี้ ได้แก่
- ค่าโรงแรม
- ค่าแพคเกจทัวร์ แต่ตั๋วเครื่องบินทั้งในและต่างประเทศนำไปขอลดหย่อนภาษีไม่ได้
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี
นายถนอม เกตุเอม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเตือนว่า ก่อนจะใช้สิทธิ์ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ ผู้บริโภคจะต้องตรวจสอบตัวเองก่อนว่าตัวเองมีกระแสเงินสดมากพอหรือไม่
"ต้องดูว่าเรามีกระแสเงินสดพอหรือไม่ ต่อให้เรามีรายได้เยอะหรือรายได้น้อยก็ตาม บางครั้งกระแสเงินสดไม่พอ ถ้ายังไม่มีเงินเหลือจะใช้ก็อย่าไปใช้สิทธิ์ตรงนี้ อย่าไปเห็นแก่การประหยัดภาษี เพราะสิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องจัดการกระแสเงินสดของเราให้ได้ก่อน และต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราอยู่ในกลุ่มคนไม่เสียภาษีหรือไม่ คืออยู่ในกลุ่มผู้ที่มีฐานเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เสียภาษี ดังนั้นเมื่อไม่ต้องเสียภาษี ก็จะไม่ได้ลดหย่อนภาษี ก็จะกลายเป็นการจับจ่ายใช้สอยตามปกติ" นายถนอมกล่าว
ตัวอย่างเช่น หากเป็นผู้ที่มีรายได้ ปีละ 240,000 บาท ต้องหักลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าใช้จ่ายส่วนตัว 30,000 บาท รวมเป็น 90,000 บาทออกจากรายได้ จะเหลือสุทธิ 150,000 บาท หรือเฉลี่ยน้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้และไม่ได้อานิสงส์จากมาตรการนี้
ส่วนคนที่เสียภาษี จะได้รับประโยชน์ในการหักค่าลดหย่อนตามลำดับ เช่น ตั้งแต่ยกเว้นภาษีสูงสุด 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 750 บาท ไปจนถึง ยกเว้นภาษีสูงสุด 35 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่เกิน 5,250 บาท
คนไทยจะตอบสนองต่อมาตรการนี้แค่ไหนศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60 วางแผนจะซื้อสินค้าช่วงมีมาตรการ สะท้อนว่ามาตรการนี้ได้รับความสนใจมาก เพราะรับรู้ข่าวสารล่วงหน้าและรัฐบาลให้ระยะเวลาใช้สิทธินานขึ้น และคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ขอลดหย่อนภาษีเต็มจำนวนร้อยละ 34
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มาตรการนี้จะทำให้เงินสะพัดในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการสูงกว่ามาตรการที่ออกมากระตุ้นในปี 2558 ที่มีเงินสะพัดประมาณ 13,000 ล้านบาท