หลังใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ วันนี้ (16 ธ.ค.2559) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว ด้วยคะแนนเสียง 168 ต่อ 0 และงดออกเสียง 5 โดยมีการปรับแก้โครงสร้างและสัดส่วนของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่กลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เรียกว่า กบว.ออนไลน์ จากเดิม 5 คน เป็น 9 คน หลังสมาชิก สนช.ตั้งข้อสังเกตว่า อาจไม่มีความเป็นธรรมเพียงพอ พร้อมกำหนดสัดส่วนให้ 3 ใน 9 คน เป็นตัวแทนจากเอกชน ด้านสิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน เทคโนโลยี หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเพิ่มเติม ให้การใช้ดุลยพินิจของศาลก่อนมีคำสั่งระงับหรือลบข้อมูลต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความได้แสดงข้อมูลหลักฐาน
แต่ประเด็นที่ถูกทักท้วงอย่างหนัก กรณีการเพิ่มฐานความผิดเรื่องการนำเข้าข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี แม้ "ไม่ผิดกฎหมาย" ไม่มีการแก้ไข โดยยังคงเป็นไปตามเนื้อหาที่กรรมาธิการเสนอ นอกจากนั้นได้ปรับแก้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ โดยให้บังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน จากกำหนดเดิม 180 วัน
"พลเมืองเน็ต" ชี้ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ เป็นเช็คเปล่า ยังต้องตามต่อกฎหมายลูก
ด้านนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวภายหลัง สนช.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่า หลังจากร่างฯ ผ่านแล้ว จะยังต้องจับตาการร่างกฎหมายลูก หรือกฎกระทรวง ที่จะระบุรายละเอียดของแนวทางการบังคับใช้ในหลายมาตรา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นเพียงเช็คเปล่าที่ยังไม่มีรายละเอียด เช่น มาตรา 15 ที่ระบุถึงการแจ้งเตือนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือมาตรา 20 การบล็อกเว็บไซต์ ทั้งนี้ นายอาทิตย์กล่าวว่า หลังจากนี้การติดตามตรวจสอบการร่างกฎกระทรวงอาจทำได้ยากขึ้น เนื่องจากเป็นหารือภายในกระทรวง ต่างจากการพิจารณาของ สนช.ที่ยังมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนติดตาม รวมทั้งมีเอกสารเผยแพร่การประชุมแต่ละรอบ พร้อมชวนให้ประชาชนที่มีความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิ ติดตามการร่างกฎหมายลูกนี้ต่อ
ส่วนประเด็นที่ว่า สนช.ปรับแก้ร่างในส่วนโครงสร้างสัดส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล จาก 5 เป็น 9 คน และกำหนดให้ 3 คน มาจากฟากเอกชน ได้แก่ ตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และด้านเทคโนโลยีนั้น นายอาทิตย์กล่าวว่า มีความผิดหวังที่การตั้งประเด็นถกเกียงใน สนช.เป็นเรื่องการกำหนดสัดส่วน แต่ไม่ได้พิจารณาประเด็นความชอบธรรมในการตั้งกลุ่มบุคคลขึ้นมาตัดสินเนื้อหาข้อมูลที่อยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมองว่า แม้มีสัดส่วนจากเอกชนเพิ่มมา 3 คน แต่เมื่อถึงเวลาโหวต เสียงก็ไม่สามารถชนะเสียงจากภาครัฐที่มีถึง 6 เสียงได้
ขณะที่ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล จากกลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ต เห็นว่า การปรับแก้ส่งผลดีเพียงเล็กน้อย แต่จากนี้กลุ่มเครือข่ายฯจะติดตามการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมขอให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งสร้างความชัดเจนแนวปฏิบัติและองค์ประกอบของกรรมการกลั่นกรอง
ในเพจเฟซบุ๊ก Thai Netizen Network เครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ข้อมูลไว้ว่า หลังจากนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะออกประกาศกระทรวงดิจิทัลอีก 5 ฉบับซึ่งเป็นกฎหมายลูกของมาตรา 11, 15, 17/1, 20 และ 20/1 ต่อไป กลไกการใช้อำนาจของรัฐและเอกชน (ที่ได้รับมอบอำนาจ) จะปรากฏอยู่ในประกาศกระทรวงต่างๆ ข้างต้น เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ ที่ปรากฏอยู่ในข้อ 4 ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. .... พร้อมขอให้ติดตามการร่างกฎหมายลูก และ ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่หวังว่าจะเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิของเราได้
กมธ.ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ชี้ผ่านร่างกฎหมายวันนี้ ไม่เกี่ยวซิงเกิลเกตเวย์
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ระบุหลังที่ประชุม สนช.ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า การพิจารณากฎหมายวันนี้ สะท้อนว่าไม่เกี่ยวข้องกับซิงเกิลเกตเวย์อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ พร้อมยืนยันว่า การยกร่างกฎหมายผ่านการรับฟังเสียงสะท้อนรวมถึงเสียงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 3 แสนคน
"ความเห็นที่หลากหลายที่มาจากหลายที่หลายทางประมาณ 2-3 แสนคน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเตือนว่า การพิจารณากฎหมายต้องทำให้เกิดความรอบคอบ ความสมดุลพอดี ระหว่างการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกับเรื่องสิทธิของบุคคลหรือสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย" พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวอภิปรายในระหว่างการประชุมพิจารณาของ สนช.
"แอมเนสตี้" ขอบคุณ 3.6 แสนเสียง สะท้อนคนไทยตื่นตัวเรื่องสิทธิ์
ส่วนปฏิกิริยาของแอมเนสตี้ ปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะองค์กรหนึ่งที่ร่วมคัดค้านเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนในร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ตและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ขอขอบคุณผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านมากกว่า 360,000 คน เพราะทำให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากมีความตื่นตัวที่จะออกมาปกป้องสิทธิของตนเองและผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาถือว่าน่าผิดหวังอย่างมาก โดยยืนยันว่าเนื้อหาในร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้เปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย
"ทางเรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ พ.ร.บ. ควรออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่ในหลายจุดของร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ซึ่งไม่ใช่แค่แอมเนสตี้ที่แสดงความเป็นห่วงและเสนอให้มีการปรับแก้มาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่ลงชื่ออีกกว่า 360,000 คน ตลอดจนประชาคมโลกเองก็จับตามอง สนช. อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังจากนี้เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปในเรื่องของการบังคับใช้และการแก้ไขในอนาคต"