4 เขื่อนใหญ่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้งสุดในรอบ 30 ปี กระทบการเกษตรภาคกลาง
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้ ถือเป็นภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี เมื่อ 4 เขื่อนใหญ่ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เหลือน้ำ 4,236 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ได้ 436 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ 3,660 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ได้ 810 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เหลือน้ำใช้ 92 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เหลือน้ำใช้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้ง 4 เขื่อนต้องลดการระบายน้ำเหลือวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ทั้ง 4 เขื่อนจะปล่อยน้ำมาไม่พอสำหรับทำนาปี หรือเพียงพอเฉพาะชาวนาที่เริ่มปลูกไปแล้วเกือบ 2 ล้านไร่ เหลืออีกประมาณ 8 ล้านไร่ ต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยจนกว่าฝนจะตกสม่ำเสมออาจจะเลยไปถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2558
ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่เหลือ 3,660 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งานได้เพียง 810 ล้านลูกบาศก์เมตร นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ ระบุว่า ลดการระบายน้ำออกตามคำสั่งกรมชลประทานแล้ว โดยจะให้ใช้อุปโภค บริโภคและผลักดันน้ำเค็มเท่านั้น
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า น้ำที่ระบายจากเขื่อนสามารถช่วยเสริมน้ำฝนที่ชาวนาใช้ทำนาปีได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น แต่เมื่อฝนตกในเดือนพฤษภาคม ภาคเหนือมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 55 และภาคกลางน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 69 จึงเป็นสาเหตุให้กรมชลประทานต้องลดการระบายน้ำจากเขื่อนลงครึ่งหนึ่งและเลื่อนส่งน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกไปอีก 2 เดือน
สำหรับภาคกลาง มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีกว่า 13 ล้านไร่ ถ้าปลูกข้าวได้ทั้งหมดจะได้ผลผลิตข้าวกว่า 8 ล้านตัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 61,000 ล้านบาท เมื่อชาวนาส่วนใหญ่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปจะทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนใช้จ่ายภาคการเกษตรกว่า 60,000 ล้านบาท
ขณะที่การช่วยเหลือชาวนาตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ไม่สามารถทำนาปีได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดอบรมอาชีพให้ชาวนา เพื่อทำเป็นอาชีพเสริมและมีรายได้