เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.2559) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางไปเยือนอนุสรณ์สถานทหารอเมริกันที่เสียชีวิตจากการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1941 หรือเมื่อ 75 ปี ที่แล้ว เหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตประมาณ 2,400 นาย และจุดชนวนให้สหรัฐอเมริกาต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2
อาเบะถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของญี่ปุ่นที่เดินทางเยือนอนุสรณ์สถานบนซากเรือ ยู.เอส.เอส แอริโซนที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ อย่างเป็นทางการ ในรอบ 65 ปี นอกจากนี้ ผู้นำญี่ปุ่นยังได้เดินทางไปแสดงความเคารพอนุสรณ์สถานแห่งชาติในโฮโนลูลูด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1951 ชิเงรุ โยชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในขณะนั้น เคยเดินทางมาเยือนอนุสรณ์สถานแห่งนี้ แต่การเดินทางเยือนของอดีตผู้นำญี่ปุ่นเมื่อ 65 ปี ก่อน ไม่มีการจัดพิธีหรือกิจกรรมอย่างเอิกเกริกเหมือนการเดินทางเยือนของอาเบะในครั้งนี้
การประกาศเดินทางเยือนเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ของผู้ญี่ปุ่น ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในภาพรวมถือว่ากลุ่มชาตินิยมมีความเห็นในเชิงบวกมากขึ้นและไม่มีกระแสต่อต้านใดๆ ต่อการเยือนครั้งนี้ตามมา ต่างกับปี 1994 เมื่อจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงมีแผนที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนอนุสรณ์สถานเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ทำให้กลุ่มชาตินิยมขวาจัดรวมตัวประท้วง จนต้องยกเลิกแผนการดังกล่าวไป
ความเห็นแรกจากหนังสือพิมพ์ซันเกอิ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ขวาจัด ระบุว่า การเดินทางเยือนรัฐฮาวายของผู้นำญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นโอกาสที่ญี่ปุ่นจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพให้แก่โลกผ่านพิธีอันเงียบสงบ ขณะที่อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโซเฟียของญี่ปุ่น กลับมองว่าการเดินทางเยือนในครั้งนี้มีวาระทางการเมืองซ่อนเร้นอยู่
โคอิชิ นากาโนะ กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นโอกาสทางการเมืองในการสร้างภาพลักษณ์ของอาเบะให้กลายเป็นรัฐบุรุษ ที่ไม่ต้องมีแก่นสารอะไรมากมาย การเดินทางเยือนเมืองนานจิงหรือการเยี่ยมผู้หญิงที่ถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่าการเดินทางเยือนเพิร์ล ฮาร์เบอร์ พร้อมกับโอบามา ซึ่งกำลังจะหมดวาระลง ซึ่งมันไม่ได้มีความหมายใดๆ เลย
แน่นอนว่าการเดินทางเยือนรัฐฮาวายและอนุสรณ์สถานเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการเยือนครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างความปรองดองระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นหรือไม่ เรื่องนี้นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าการเดินทางเยือนของอาเบะเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ไว้เนื้อเชื่อใจกันมาเป็นเวลานานแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บารัค โอบามา เดินทางเยือนอนุสรณ์สถานระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมะของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาคนแรกที่เดินทางเยือนสถานที่ดังกล่าว การเดินทางเยือนจึงไม่ได้นำมาสู่การปรองดองในทางตรงกันข้าม การปรองดองต่างหากทำให้เกิดการเดินทางเยือนระหว่างผู้นำ สิ่งที่ต้องจับตามอง คือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาใต้เงาของโดนัลด์ ทรัมพ์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากที่ทรัมพ์เคยเน้นยํ้าให้ญี่ปุ่นทุ่มงบประมาณด้านกลาโหมให้มากขึ้น