ย้อนกลับไปภารกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีทั้งการผิดถนนต่อต้าน และการไม่ยอมรื้อถอนตามคำสั่ง และนำมาซึ่งคำถามว่า เมื่อมีการปรับพื้นที่แล้ว ใครจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ เพื่อไม่ให้ปัญหาเดิมวนเวียนกลับมาอีกครั้ง
นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ บอกว่า ปฏิบัติการรื้อรีสอร์ทบนภูทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ที่ 35/2559 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นำกำลังกว่า 600 นาย เข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง 19 แห่ง ที่กระทำความผิดใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ เพราะเป็นที่จัดสรรค์ให้ทำการเกษตร แต่กลับถูกซื้อขายและก่อสร้างที่พักจนส่งผลกระทบหลายด้านตามมา
หลังดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ฝ่ายปกครองจังหวัดเพชรบูรณ์ มีแผนจะเข้าไปจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างที่เหลือซึ่งเป็นของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ดั้งเดิม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชนเผ่าม้งที่อยู่บนภูทับเบิก
แต่ นิภารัตน์ ประพฤติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดเพชรบูรณ์ ระบุว่าหากการรื้อถอนรีสอร์ทแล้วเสร็จ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือในการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านพร้อมกับสนับสนุนการทำการเกษตรอินทรีย์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน
เช่นเดียวกับ นักท่องเที่ยวหลายคน ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าการรื้อรีสอร์ทบนภูทับเบิก และเข้าไปบริหารจัดการถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมามีรีสอร์ทและที่พักผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด บดบังทัศนียภาพที่สวยงามของภูทับเบิก ไร่ปลูกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไป
สำหรับการรื้อถอน และ ดำเนินคดี กับผู้ประกอบการที่กระทำผิดบนภูทับเบิก เจ้าหน้าที่ได้เข้ารื้อถอนรีสอร์ท 2 กลุ่มแรกไปแล้วจำนวน 32 แห่ง ส่วนกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นของกลุ่มนายทุนและชาวไทยภูเขาจากนอกพื้นที่ซึ่งมีอีกกว่า 10 แห่ง ขณะนี้ได้ดำเนินการจับกุมส่งฟ้องศาล หากมีคำสั่งออกมาเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมดต่อไป