การ์ดเกมที่มีกติกาง่ายๆ ให้เรียงลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศในอาเซียนให้ถูกต้องตามช่วงเวลา ใครแม่นยำกว่าก็คว้าชัยชนะ บอร์ดเกมที่ แดนไทย สุขกำเนิด วัย 12 ปี คิดค้นเพื่อช่วยจำในวิชาเรียน ยังกลายเป็นกิจกรรมสร้างรอยยิ้มในครอบครัว เป็นความประทำใจที่คุณพ่อ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ บันทึกไว้ และยังนำมาปรับใช้ในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยให้เรื่องยาก เช่น การจัดสรรทรัพยากร เข้าใจง่ายผ่านเกมหลากหลายรูปแบบ จุดเริ่มต้นจากความห่วงใยว่าลูกชายจะกลายเป็นเด็กติดเกม หากเมื่อได้รู้จักโลกของเด็กรุ่นใหม่และเปิดใจยอมรับ โลกของคนสองวัยจึงกลายเป็นหนึ่งเดียว ส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ของคุณพ่อลูกสองที่นำมาแบ่งปันสู่โลกออนไลน์ ก่อนจะกลายเป็นหนังสือ "ถูกทางเกรียนเมื่อลูกเปลี่ยนเรา"
"ตอนแรกมีความเป็นห่วงว่าเค้าชอบเล่นเกมมายคราฟมากเลย ไปแอบดูถึงรู้ว่า เกมนี้สามารถเสริมจินตนาการ และเสริมทักษะในการออกแบบ เลยชวนจากมายคราฟ มาใช้เกมที่เกี่ยวกับออกแบบแทน... เราจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ทันสิ่งที่เค้าเปลี่ยนไป ถ้าเราเรียนรู้ที่จะรับฟังสิ่งที่เค้าคิด จะทำให้เราสามารถว่าเค้ากำลังพัฒนาไปสู่จุดไหน แล้วเราจะช่วยเติมเค้าได้อย่างไร" เดชรัต พูดถึงจุดเริ่มต้น
บทสนทนาสั้นๆที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างพ่อลูก เมื่อลูกสาวเปิดใจ ผู้ใหญ่ก็พร้อมทบทวน คุณพ่อวัย 49 ปี จึงให้ความสำคัญกับการพูดคุยรับฟังปัญหาของลูกสาววัย 17 ปี ที่มีความสนใจเกินตัวทั้งเรื่องสังคม ระบบการศึกษาไทย ไปจนถึงปรัชญาชีวิต แม้หลายคำถามจากวัยรุ่นยุคเจนเนอเรชั่น Z จะดูต่อต้านกฎระเบียบและเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่คุ้นเคย หากนี่ก็เป็นช่วงเวลาแลกเปลี่ยนของคนสองวัยที่แสดงถึงความเอาใจใส่ในครอบครัว
"พ่อพยายามทำความเข้าใจเราเรื่อยๆ ไม่คิดแทนเรา เวลามีอะไรพ่อจะถามและอธิบายให้คำปรึกษา ไม่ใช่ในฐานะพ่อ แต่ในฐานะเพื่อนเอาไปใช้ได้จริง" วริษา สุขกำเนิด บอกกับไทยพีบีเอส
"มีหลายคำถาม เช่น เราจำเป็นต้องนับถือศาสนามั้ย การที่เป็นคนที่ไม่ได้นับถือศาสนากลายเป็นคนที่ไม่มีจริยธรรมมั้ย อย่างนี้เป็นต้น เรามีการนำมาพูดคุยกัน อย่างที่เขียนไว้ในหนังสือ ตอนหลังผมเน้นแนวคิดเดินตามหลังลูก ให้เค้าเดินนำไป เรามีอะไรก็คุย บอกเค้าได้ แต่หากเราไปเดินข้างหน้าลูก บางทีเราไปบังความคิดของเค้าอีก เพราะว่าเราอาจพาไปในทิศที่เค้าไม่อยากไปก็ได้" คุณพ่อนักวิชาการ ร่วมแบ่งปัน
หลายกิจกรรมใช้เวลากับลูกๆในบ้านเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์เดชรัต สร้างงานเขียน อย่างหนังสือเล่มแรก บ้านนี้ดีไอวาย เขียนร่วมกับภรรยา ก็เป็นเรื่องของการทำเกษตรสำหรับคนเมือง ส่วนหนึ่งก็เพื่อปลูกฝังวิถีธรรมชาติให้กับลูกๆ ด้วย
เพราะทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเหมือนการเรียนรู้ ให้สมาชิกในครอบครัวได้เติบโตไปพร้อมกัน คุณพ่อนักวิชาการยังแบ่งปันประสบการณ์เลี้ยงลูกสู่โลกออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ หวังให้ครอบครัวได้เห็นมุมมองใหม่ๆในการเลี้ยงลูก เพื่อเท่าทันความคิดของเด็กยุคใหม่ และเข้าใจกันมากขึ้น
หนังสือ "ถูกทางเกรียนเมื่องลูกเปลี่ยนเรา" เป็นงานเขียนเล่มที่ 3 ของอาจารย์เดชรัต ซึ่งผลงานสองเล่มก่อนหน้านี้ก็เป็นเรื่องที่ได้แนวคิดมาจากคนในครอบครัวทั้งการทำเกษตรและเรื่องของเกมทางเศรษฐศาสตร์
อัญชลี โปสุวรรณ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน