วันนี้(18 ม.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟชบุ๊ก “ภัทรพล หมอล็อต มณีอ่อน” ของนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตนคร ศรีธรรมราช เพื่อให้ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในพื้นที่อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราชในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา และได้พบว่าระบบการเตือนภัยของชาวบ้าน และการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมที่อยู่ห่างไกล การช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง
เฟชบุ๊กของภัทรพล หมอล็อต มณีอ่อน ตั้งคำถามตอนหนึ่งว่า "เดือดร้อน เสียหาย แล้วช่วยเหลือ กับช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เดือดร้อน เสียหาย" คุณจะเลือกแบบไหน ชัดเจนแล้วครับว่า หน่วยงานเอกชนที่มีศักยภาพ และหน่วยงานที่เป็นตัวแทนรับบริจาคที่ผมขอความช่วยเหลืองบก้อนหนึ่งให้จัดหาวิทยุเครือข่ายประชาชน เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านใช้สื่อสารกันอย่างทั่วถึง ในพื้นที่ เสี่ยงภัยนั้น ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการจะไปมอบของยังชีพหลังประสบเหตุมากกว่า เพราะจะได้ถ่ายรูปความเสียหาย และความเดือดร้อนของชาวบ้านชัดเจนกว่า ซึ่งไม่เป็นไรครับ ให้เกียรติและยอมรับในเหตุผล ในส่วนของผม เราไม่อยากไปช่วยงานศพชาวบ้านหรือใครที่ได้รับผลกระทบจากภัยครั้งนี้ คิดแบบแรก "อำมหิต" มากๆจึงต้องหันเข้าหาการช่วยเหลือจากภาคประชาชนเพื่อประชาชนกันละครับ
เขาบอกว่า "สัญญาณจากฟ้า" ที่พ่อหลวงได้ทรงแนะนำให้พึ่งพาระบบสื่อสารโดยวิทยุช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราได้น้อมนำมาสู่ "เทพราชโมเดล" ทำไมต้องมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยใช้วิทยุ CB เครือข่ายประชาชนในพื้นที่เสี่ยง (เทพราชโมเดล) :ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงตามสาขาย่อยของแม่น้ำสายใหญ่ เมื่อฝนตกมาน้ำจะไหลบ่าลงไปสู่แม่น้ำใหญ่ พัดพาดิน โคลนที่เลื่อนไหลเนื่องจากอุ้มน้ำหลายวันลงมาปิดเส้นทางสัญจรสายหลักสายรองที่ชาวบ้านใช้ประจำวันอยู่
เหมือนกรณีตำบลเขาน้อย ถูกปิดเส้นทางสัญจรหลักเส้นเดียวถึง 11 จุดด้วยน้ำหรือดินเลื่อนเป็นเวลา 3 คืน 3 วันกว่าความช่วยเหลือทางอากาศส่งไปได้ ทำให้ชาวบ้าน 3 ชุมชน 200 ครัวเรือนต้องผจญกับหายนะที่คุกคามทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะเด็ก คนชรา และผู้ที่เจ็บป่วย ปราศจากคลื่นโทรศัพท์ ต้องรอให้เครื่องกลหนักเปิดเส้นทางเข้าไปช่วยเหลือ หากมีเครือข่ายวิทยุชาวบ้านที่ออกไปประกอบอาชีพตามไร่และสวนสามารถกลับบ้านเรือนได้ทันท่วงทีก่อนที่น้ำและดินโคลนจะปิดกั้นเส้นทาง หรือทางฝ่ายปกครองสามารถแจ้งให้อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้โดยทันที ทางการก้อจะได้เข้าช่วยเหลือในจุดที่อพยพได้ทันการณ์
ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่อยู่บนเขาด้านใน ซึ่งแต่ละบ้านจะมีกระป๋องวัดระดับน้ำฝนทุกบ้าน สามารถรายงานประมาณน้ำฝนที่ตกลงมาหรือระดับน้ำไหล เพื่อสามารถคาดการณ์ และแจ้งเตือนให้คนในพื้นที่ราบในตัวจังหวัดเตรียมความพร้อมได้ ซึ่งเป็นความต้องการจากชาวบ้านโดยตรง
"ผมขอความช่วยเหลือทุกท่านช่วยกันระดมทุนบริจาคซื้อวิทยุเครื่องแดง เป็นระบบเตือนภัยราคาเครื่องละพันกว่าบาท เพื่อแจกให้ชาวบ้านอย่างทั่วถึงในพื้นที่ประสบภัยได้ ตามรายละเอียดในรูปที่แนบมาของ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยนะครับ ขอบพระคุณมากครับ"
โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายสัตวแพทย์ภัทรพล ยืนยันว่าต้องการขอรับบริจาคเงินผ่านทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เพื่อนำเงินไปซื่ิอวิทยุสื่อสารเพื่อการเตือนภัย
ด้าน ผศ.น.สพ.ธีระวิทย์ จันทร์ทิพย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช บอกว่า ขณะนี้มีผู้สนใจร่วมบริจาคจำนวน 20,000-30,000 บาท เพื่อมาจัดซื้อวิทยุสื่อสารเครื่องแดง หรือแบบ CB ที่ทางกสทช.อนุญาตให้ประชาชนใช้ได้ประมาณ 100 ช่องแล้ว โดยทางคณะตั้งเป้าว่าจะนำไปบริจาคให้กับพื้นที่หมู่บ้านเทพราช และเขาน้อย ซึ่งอยู่บริเวณเทือกเขาหลวง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราชก่อน ภายใน 2-3 วันช้างหน้า เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อับสัญญาณมือถือ และเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนเขาเวลาเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้น ชาวบ้านถูกตัดขาดหลายวัน ขณะที่ยังมีเป้าหมายสำหรับพื้นที่เสี่ยงตามแนวเทือกเขาบรรทัด ในพัทลุงและตรัง ซึ่งตั้งเป้าที่จะนำไปแจกจ่ายให้ได้ตำบลละ 1-2 ชุด
ขณะเดียวกันจากการลงพื้นที่พบว่าสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ สุนัข แมวในพื้นที่ประสบภัย มีภาวะความเครียดเช่นเดียวกับคนซึ่งความเครียดจะทำให้เกิดโรคติดเชื้อ โรคระบาดในสัตว์ตามมาได้ง่าย ทั้งนี้จะต้องเฝ้าระวังไปอย่างน้อย 3-6 เดือนว่าหลังน้ำลดจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ โดยทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ยังขอรับบริจาคยาถ่ายพยาธิและยาสำหรับสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม