ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กฟผ. ลุ้น กพช.ตัดสินสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ กุมภาพันธ์นี้

เศรษฐกิจ
20 ม.ค. 60
07:38
255
Logo Thai PBS
กฟผ. ลุ้น กพช.ตัดสินสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ กุมภาพันธ์นี้
ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเลือกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ หรือไม่ เเต่เพื่อป้องกันความเสี่ยง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเตรียมแผนรองรับความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ด้วยการก่อสร้างสายส่งเพิ่ม

นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. ระบุว่า ได้ส่งรายชื่อผู้สนับสนุนก่อสร้างโรงฟ้ากระบี่ 15,000 คน ไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อรายงานนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ในการประชุมกันวันที่ 17 กุมภาพันธ์

“ถ้าเราติดตามข่าวทางเฟสบุ๊ก ไลน์ จะมีประชาชนรวมตัวกันลงรายมือชื่อประมาณ 15,000 ชื่อ ว่าต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้า จึงรายงานทางกระทรวงไปยังรัฐบาลแล้ว อยากจะให้รัฐบาลตัดสินใจ ให้ลองเดินหน้าต่อไป ”นายวิวัฒน์ กล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา อยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อ หรือ EIA ซึ่งคณะกรรมการชำนาญการ หรือ คชก. ขอคำชี้แจงเพิ่มเติมรอบที่ 2 ทาง กฟผ.ได้เตรียมชี้แจงแล้ว และหากผ่านก็จะส่งเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ หากโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 20ปี และไม่สามารถหาไฟฟ้าอื่นมาทดแทนได้ทัน จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟดับมากที่สุดในปี 2563 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ แต่มีกำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ สูงกว่าความต้องการใช้เพียงเล็กน้อย

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า อยากให้รัฐบาลเดินหน้ากระบวนการทางวิชาการให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ได้คำตอบว่าคณะกรรมการไตรภาคีได้ข้อสรุปอย่างไร ก่อนสรุปว่าจะสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งหากเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่และผลกระทบสิ่งแวดล้อม

“ผมเป็นห่วง 2 เรื่อง คือความขัดแย้งในพื้นที่และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่คิดว่าจะมีหลายอย่าง โดยเฉพาะการตกกระทบของพื้นที่ชุ่มน้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรจะทำได้คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราก็ไม่ทำ เราไปเลือกโรงไฟฟ้าถ่านหินแทน” นายเดชรัตน์ กล่าว

ส่วนการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในขณะนี้ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้า แต่ยังมีความกังวลเสาสายส่งไฟฟ้าในพื้นเชิงเขาและพื้นที่สูงอาจได้รับผบกระทบจากดินสไลด์ กฟผ.จะเข้าไปตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง