กรณีสื่อญี่ปุ่นเผยแพร่ข่าวข้าราชการระดับรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ของไทย ขโมยภาพวาดที่ประดับไว้ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ระหว่างพักค้างแรมอยู่ในประเทศญี่ปุ่น กระทั่งถูกดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา
วันนี้(26 ม.ค.2560) นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการกง สุล อาทิ การจัดหาล่ามและทนายความ ตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยากที่ได้ปฏิบัติเป็นปกติในทุกกรณี
ขณะที่ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่าได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากาประสานงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นและสถานกงสุลไทยในโอซากาในการให้ความช่วยเหลือ และจะประสานกับทางการญี่ปุ่นขอเข้าพบข้าราชการคนดังกล่าวในวันนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะให้เข้าพบได้หรือไม่
ทั้งนี้ ขั้นตอนทางกฎหมายของญี่ปุ่นพบว่ามีรายละเอียดการตรวจสอบที่ใช้ระยะเวลาพอสมควร เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยแล้วจะทำสำนวนคดีและส่งตัวผู้ต้องสงสัยให้อัยการภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นอัยการจะทำเรื่องก่อนส่งฟ้องศาลภายใน 24 ชั่วโมงและอัยการดำเนินการส่งฟ้องศาลภายใน 20 วัน เป็นต้น
ส่วนของขั้นตอนระเบียบราชการ ต้องรอให้ข้าราชการคนดังกล่าว เดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งตามระเบียบของข้าราชการหากมีการกระทำผิดจริงจะดำเนินการเอาผิดทางวินัย เช่น ภาคทัณฑ์ ลดเงินเดือน หรือปลดออกจากราชการเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของกฎหมายญี่ปุ่นและไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไรแต่ตาม กฎระเบียบข้าราชการ เมื่อไปประชุม ต่างประเทศจะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองเหมือนข้าราชการที่ไปประจำในต่างประเทศ
ด้าน น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีนี้คงต้องรอทางการญี่ปุ่นสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หลังจากนั้นจะมอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบตรงสอบสวนข้อเท็จจริงอีกครั้งเพื่อดำเนินการตามระเบียบวินัยของข้าราชการกระทรวง โดยต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการคนดังกล่าวเพราะขณะนี้ยังไม่ทราบถึงเหตุผลที่แท้จริง
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่าเรื่องนี้คงไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ จึงไม่ต้องเข้ามาที่ป.ป.ช. ส่วนเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม หรือโทษทางวินัย เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ต้องพิจารณา
ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการป.ป.ท.กล่าวว่าปกติกรณีกระทำผิดอาญาในต่างประเทศผู้ก่อเหตุต้องถูกดำเนินคดีและรับผิดตามกฎหมายของประเทศต้นทางก่อน จากนั้นเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทย ต้นสังกัดจะตรวจสอบเพื่อลงโทษทางวินัย เพราะก่อคดีอาญาในสถานะที่เป็นข้าราชการ
ทั้งนี้ตามกฎหมายญี่ปุ่น ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 235 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 เยน โดยถือเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโทษของศาลญี่ปุ่นจะดูจากเจตนากระทำผิด พฤติกรรมขณะก่อเหตุว่ามีการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ขัดขืนเจ้าหน้าที่ และจะพิจารณาประวัติของผู้ถูกกล่าวหาประกอบด้วย