ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สปท.เมินเสียงค้าน-ยันเดินหน้าสรุปร่างกฎหมายคุมสื่อพรุ่งนี้

สังคม
29 ม.ค. 60
19:17
1,813
Logo Thai PBS
สปท.เมินเสียงค้าน-ยันเดินหน้าสรุปร่างกฎหมายคุมสื่อพรุ่งนี้
คณะกรรมาธิการ ด้านการปฏิรูปสื่อของ สปท.ยืนยันจะประชุมเพื่อสรุปร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนวันพรุ่งนี้(30ม.ค.) แม้จะมีข้อโต้แย้งจาก 30 องค์กรวิชาชีพ ให้ยกเลิกการพิจารณาร่างฉบับนี้ ที่ให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้( 29 ม.ค.2560) ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน30 องค์กร ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเห็นตรงกันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระที่เน้นการควบคุมสื่อมวลชน โดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน สวนทางกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเอง


จึงขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนและให้กลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว



นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องการกำหนดจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลสื่อ มวลชนทั้งหมด โดยมีอำนาจขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้ ซึ่งมีกรรมการเป็นระดับปลัดกระทรวง 4 กระทรวง จึงอาจเป็นช่องทางให้อำนาจรัฐ ที่เป็นตัวแทนนักการเมือง เข้ามาแทรกแซงสื่อได้โดยตรง

นายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บอกว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ยืนยันว่า การออกมาคัดค้าน ไม่ใช่ปกป้องวิชาชีพ แต่เพื่อผลประโยชน์การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และการตรวจสอบการทำงานภาครัฐ ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ก็จะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป

 

 

ขณะที่ พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประ เทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.ยืนยันว่า การประชุมวันพรุ่งนี้(30 ม.ค.)จะเป็นการสรุปร่างกฎหมายการคุ้มครองสื่อฯ ครั้งสุดท้าย ก่อนนำเสนอต่อวิป สปท.และบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สปท.แม้จะถูกคัดค้านจาก 30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนก็ตาม

โดยยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ได้เปิดโอกาสให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าชี้แจงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้แล้ว แต่คณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ริดรอนสิทธิเสรีภาพ การนำเสนอข่าวสารข้อมูลของสื่อมวลชนอย่างที่กังวล

ส่วนที่มีการกำหนดให้มีสภาวิชาชีพที่มีตัวแทนทั้งจากองค์กรวิชาชีพ และภาครัฐ ซึ่งมาจากปลัดกระทรวง 4 คนนั้น ก็เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลย์ เพราะต้องยอมรับว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สื่อไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้อย่างเต็มที่ พร้อมยกกรณีกติกาที่เพิ่มขึ้น ก็เปรียบเหมือนโทษประหาร หากไม่ทำผิด ก็ไม่ต้องกังวลกับกติกา หรือบทลงโทษ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง