ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา พิชชานันท์สร้างความมหัศจรรย์ด้วยการคว้าแชมป์มาราธอนและวิ่งเทรลหลายรายการ และล่าสุด คือ แชมป์วิ่งเทรลระยะทาง 100 กม.ของ The North Face 100 Thailand 2017 เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2560
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้รักการวิ่งและการผจญภัยในแบบ "วิ่งเทรล" ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 3,000 คน ไปรวมตัวกันที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อร่วมการแข่งขันรายการ The North Face 100 Thailand 2017 ซึ่งจัดว่าเป็นงานวิ่งเทรลที่ได้รับความนิยมมากรายการหนึ่ง และเป็นรายการที่นักวิ่งไทยและนักวิ่งต่างชาติขับเคี่ยวผลัดกันคว้าแชมป์กันอย่างสนุก
ชัยยุทธ ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย เอาท์ดอร์ สปอร์ต จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ The North Face® ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้การแข่งขันวิ่งเทรลสนามนี้เป็น "โรงเรียนวิ่งเทรล" สำหรับผู้ที่อยากต่อยอดไปวิ่งเทรลระดับโลก และเป็นเหมือนสนามนัดพบของนักวิ่งเทรล
The North Face 100 Thailand 2017 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 ก.พ.2560 โดยมีการจัดการแข่งขันในระยะ 15, 25, 50, 75 และ 100 กม. โดยในระยะ 100 กม.ซึ่งเป็นระยะที่ไกลที่สุดของรายการนี้มีนักวิ่งลงแข่งขันทั้งหมด 234 คน แต่วิ่งเข้าเส้นชัยได้เพียง 124 คน หรือเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายของสนามนี้ได้เป็นอย่างดี
ผลการแข่งขันที่ 1 ในระยะ 100 กม.ประเภทบุคคลชาย ได้แก่ แฮรี โจนส์ แชมป์รายการนี้สมัยที่ 2 จากประเทศอังกฤษ ใช้เวลา 9.26 ชม. อันดับ 2 เป็นนักวิ่งชาวไทย คือ จันทรบูรณ์ เกรียงไพรพนา ใช้เวลา 10.16 ชม.
ส่วนผลการแข่งขัน 100 กม.ประเภทบุคคลหญิง อันดับ 1 เป็นของพิชชานันท์ แชมป์จอมบึงมาราธอน 2 สมัย ใช้เวลา 12.34 ชม. เร็วกว่าเวลาที่ "น้ำเพชร พรธารักษ์เจริญ" ทำไว้เมื่อปี 2016 ที่ 13.29 ชม. ส่วนอันดับที่ 2 และ 3 เป็นของนักวิ่งจากนิวซีแลนด์ (12.45 ชม.) และโปแลนด์ (13.56 ชม.)
เรื่องราวการวิ่งของพิชชานันท์หรือที่เพื่อนพี่น้องในวงการนักวิ่งเรียกว่า "เอ๋" เต็มไปด้วยเรื่องน่าทึ่ง เอ๋เป็นชาว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เริ่มต้นวิ่งเมื่อปี 2558 เมื่ออายุ 38 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เธอลาออกจากงานที่โรงงานเพื่อมาดูแลคุณแม่ที่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัด เธอไม่เคยรู้จักการวิ่งมาราธอนมาก่อน แต่บังเอิญเดินผ่านป้ายงานวิ่งจอมบึงมาราธอนจึงอยากลองแข่งดู เธอไปถึงสถานที่แข่งขันแต่เช้าตรู่โดยไม่รู้ว่าต้องสมัครล่วงหน้าถึงจะมีสิทธิวิ่ง แต่เจ้าหน้าที่ก็อนุโลมให้เธอวิ่งโดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานว่ารับผิดชอบตัวเอง
นับจากการวิ่งระยะ 10.5 กม.ที่จอมบึงมาราธอนในปี 2558 พิชชานันท์พิสูจน์ฝีเท้าและจิตใจที่แข็งแกร่ง เป็นม้ามืดที่คว้าแชมป์หลายสนาม ทั้งวิ่งถนนและทางวิบาก (เทรล) ได้แก่ แชมป์มาราธอน 42.195 กม.ประเภทบุคคลหญิง จอมบึงมาราธอน จ.ราชบุรี 2 สมัย, แชมป์วิ่งเทรลเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี ระยะ 32 กม. ซึ่งการคว้าแชมป์นี้ทำให้เธอได้รางวัลไปแข่งวิ่งเทรลที่ประเทศมาเลเซียซึ่งเธอก็คว้าที่ 1 ประเภทบุคคลหญิงมาครองอีก จากนั้นก็ไปลงแข่งวิ่งเทรลระยะ 66 กม.ที่ จ.เชียงใหม่ พิชชานันท์ก็คว้าแชมป์ได้อีกเช่นเคย
"ไทยพีบีเอส" มีโอกาสสนทนากับพิชชานันท์ในตอนสายของวันรุ่งขึ้นหลังจากเธอคว้าแชมป์ 100 กม. The North Face 100 Thailand 2017 ซึ่งเป็นระยะที่ไกลที่สุดที่เธอเคยวิ่งมา
จุดเริ่มต้นของการวิ่ง
ตั้งแต่เด็กไม่เคยเล่นกีฬาอย่างจริงจังมาก่อน เพราะเราตัวเล็ก ครูไม่ค่อยเลือกให้ไปแข่งกีฬา มีแค่เล่นวิ่งเปี้ยวนิดๆ หน่อยๆ ช่วงทำงานก็ทำงานในโรงงานมาตลอด ก็เลยไม่ได้ออกกำลังกายเพราะต้องเข้ากะดึกสลับกับกะกลางวัน ยืนทำงานตลอดตั้งแต่เช้าถึง 2 ทุ่ม ได้พักแค่ช่วงกินข้าวกลางวัน ทำงานอยู่อย่างนี้นาน 7-8 ปี ไม่ได้สนใจโลกภายนอกเลย เคยได้ยินเรื่องงานวิ่งบ้างแต่ก็ไม่ได้สนใจ ยังเคยถามเพื่อนเลยว่าเขาวิ่งกันไปทำไม
ช่วงปี 2558 แม่ป่วยเข้าโรงพยาบาลและกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เอ๋ต้องลาออกจากงานมาดูแลแม่ แล้วบังเอิญเห็นป้ายประชาสัมพันธ์งานวิ่งจอมบึงมาราธอน ก็เลยอยากลองวิ่งดู ไม่รู้จักหรอกว่าคืออะไร อยากไปวิ่งเฉยๆ เบอร์วิ่งก็ไม่มี ก็ไปขอเขาวิ่ง 10.5 กม. รู้สึกชอบและตั้งใจว่าปี 2559 จะต้องมาวิ่งมาราธอนให้ได้ ก็เริ่มซ้อมโดยอาศัยช่วงที่แม่หลับ ออกไปวิ่งถนนหน้าบ้าน วิ่งมาราธอนครั้งแรกที่จอมบึงมาราธอนก็ได้ที่ 1 ประเภทบุคคลหญิง หลังจากนั้นก็ซ้อมเอง จนกระทั่งได้ข่าวว่ามีการจัดวิ่งเทรลรายการเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี บ้านเราอีก ก็เลยลองไปสมัครดู ก็ได้ที่ 1
ซ้อมวิ่งเทรลอย่างไรบ้าง
ดูเทคนิคการวิ่งจากยูทูป แล้วก็ซ้อมเองเป็นหลัก ลองกระโดด ลองล้ม ลองลื่นดูว่ามันเป็นยังไง และเราจะต้องวางเท้ายังไง ส่วนมากก็จะออกไปวิ่งถนนหน้าบ้านตามปกติ เพราะเราต้องดูแลแม่ที่ป่วยติดเตียงด้วยและรับงานมาทำที่บ้านด้วย
การเตรียมตัวสำหรับวิ่งเทรล 100 กม.
หลังจากได้แชมป์มาราธอนที่จอมบึง (15 ม.ค.2560) ก็พักยาว แล้วก็ลงงานวิ่ง 10.5 กม.ที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง สำหรับสนามนี้หลายคนเตือนว่าอากาศร้อนจัด ต้องฝึกร่างกายให้ทนกับการวิ่งท่ามกลางความร้อน ก็เลยหาโอกาสฝึกวิ่งกลางแดดตอนเที่ยงครั้งละ 2 ชม.แต่เราก็ไม่มีเวลาซ้อมมากมายอะไร ซึ่งพอมาวิ่งจริงๆ พบว่าที่ซ้อมวิ่งกลางแดดมามันเทียบกับสนามจริงไม่ได้เลย
ระหว่างการแข่งขันเป็นอย่างไรบ้าง
คิดแต่ว่าเราจะวิ่งตามแผนที่วางไว้ คุมระดับการเต้นของหัวใจไม่ให้เต้นเร็วเกิน และเราจะไม่เร่งเหมือนตอนวิ่งถนน เพราะเราไม่เคยวิ่งระยะทาง 100 กม. ถ้าเราเร่งมากๆ เราอาจจะหมดแรงในตอนท้าย แต่มาหกล้มตรงกม.ที่ 12 เพราะวิ่งลงเขามาเร็ว แล้วไปสะดุดกอไม้ ตอนนั้นยังไม่สว่างด้วย หัวเข่าไปกระแทกก้อนหิน กว่าจะลุกได้ก็นานเหมือนกันเพราะเจ็บมาก ก็ค่อยๆ ลากมาถึง กม.ที่ 18 ถึงจะเริ่มวิ่งได้ ตอนนั้นก็คิดว่าจะถอนตัวจากการแข่งขัน (DNF) เพราะไม่เคยล้มแล้วเจ็บขนาดนี้ แต่พอวิ่งมาถึงจุดพักตรง กม.ที่ 50 แล้วได้ทำแผลก็ดีขึ้น
จุดที่คิดว่ายากที่สุด คือช่วง 14 กม.สุดท้ายที่ต้องขึ้นเขา เพราะเราเหนื่อยสุดๆ มาแล้ว พอต้องวิ่งขึ้นเขาอีกก็เหมือนวัดใจเราว่าเราจะทำได้มั้ย ถ้าตรงนี้เราผ่านไปไม่ได้ ที่เราทำมาทั้งหมดมันก็เหมือนเสียเปล่า ก็ต้องกัดฟันเอา ตลอดทางที่วิ่งมาไม่สนใจว่าใครจะแซงเราหรือเราจะตามใคร คิดแค่ว่าเรามาวิ่งของเรา ใครจะแซงก็ให้เขาแซงไป เราจะวิ่งตามแผนที่วางมา
เทคนิค-เคล็ดลับการวิ่งเทรล
เทคนิคส่วนตัวของเอ๋คือจะวิ่งช่วงลงเขาให้เร็ว และช่วงขึ้นเขาก็จะไม่หยุด ถ้าวิ่งไม่ได้เราก็เดิน ถ้าเดินไม่ได้ก็ไต่เอา สิ่งสำคัญคือเราจะไม่หยุดอยู่กับที่ จะไปเรื่อยๆ ให้ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เวลาขึ้นเขาเราไม่ต้องขึ้นให้ไว เราเดินขึ้นก็ได้ พอถึงตอนวิ่งลงเขาก็อัดเลย เราจะซ้อมเทคนิคการวิ่งลงให้มาก แล้วอีกอย่างหนึ่งคือถ้าจะมาวิ่งเทรลต้องไม่ห่วงสวย ต้องไม่กลัวดำ ต้องมีความขยัน อดทน ต้องรัก ถ้ามาวิ่งเทรลไม่รักก็วิ่งไม่ได้ เพราะมันจะท้อ
ส่วนเรื่องอาหาร เอ๋กินเหมือนคนทั่วไปเลย กินข้าวกินแป้ง ระหว่างวิ่งก็มีเจลเพิ่มพลังงานบ้าง เพราะเป็นคนวิ่งเร็วก็ต้องใช้พลังงานเยอะ อย่างคราวนี้หมดเจลไป 4 ซอง กับไข่ต้ม 1 ฟองที่เตรียมไป กินหลังจากผ่าน 20 กม.ไปแล้ว นอกจากนั้นก็กินกล้วยหอม แตงโม ตามที่จุดที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น ไม่ได้มีการดูแลเรื่องโภชนาการอะไรเป็นพิเศษ
ความประทับใจต่อการวิ่งเทรล
วิ่งเทรลมันท้าทายและได้ใช้ความคิด มันไม่เหมือนถนน เราต้องวิ่งไป คิดไป ดูทางไป ไม่งั้นอาจจะหลงทางได้ ขณะที่วิ่งเหมือนเราได้ใช้ทุกส่วนของร่างกายเราเลย วิ่งถนนเส้นทางไม่ซับซ้อนและมีน้ำดื่มบริการตลอดทาง แต่วิ่งเทรลเราต้องแบกเป้น้ำดื่มไปด้วย การวิ่งเทรลสอนอะไรเราหลายอย่างมาก ฝึกให้เราอดทนผ่านความยากลำบาก และยังได้เห็นน้ำใจของเพื่อนนักวิ่ง เราล้มก็มีนักวิ่งกลับมาช่วยหรือถ้าเอ๋เห็นใครล้ม ก็จะไปช่วยเขาขึ้นมา ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาวิ่งแบบไม่มองใครเลย การวิ่งเทรลสอนให้เราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
หลังจากนี้ก็ตั้งใจไว้ว่าจะหาสนามวิ่ง 100 ไมล์ ยังไม่รู้ว่าจะลงสนามไหน แต่จะไปวิ่งแน่ๆ
กนิษฐ์ ศรีสุวรรณ ไทยพีบีเอส: สัมภาษณ์
The North Face, วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์: ภาพ
ย้อนดูรายการ "ฟิตไปด้วยกัน" ตอน นักวิ่งบ้านนอก