วันนี้ ( 6 ก.พ.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ติดเชื้อ ศูนย์สงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี วัดป่าศรีมงคล ต.สวนจิก อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด รับจ้างร้อยใบยาสูบ มีรายได้ประมาณ 100 บาทต่อวันเท่านั้น ไม่ต่างจากผู้ติดเชื้ออีก 38 คน ที่อาศัยในศูนย์แห่งนี้ ซึ่งบางคนก็ไม่สามารถทำงานได้ การใช้ชีวิตที่นี่จึงจำเป็นต้องพึ่งพาเงินบริจาค เพื่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล และค่าอาหารทุกเดือน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการดูแลจากพระครูกิตติยานุรักษ์ หรือหลวงปู่อุทัย กิติโก เจ้าอาวาสวัดผู้ก่อตั้งศูนย์ ที่จะจัดสรรเงินให้เดือนละกว่า 20,000 บาท แต่หลังท่านได้มรณะภาพเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ขาดแคลนเงินบริจาค ผู้ติดเชื้อจึงต้องหางานทำเพิ่ม
ศูนย์สงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี วัดป่าศรีมงคล เปิดรับผู้ติดเชื้อจำนวนมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ในปี 2558 ทางจังหวัดจะมีการประชุมและกำหนดไม่ให้มีการรับผู้ติดเชื้อเพิ่ม พร้อมกับส่งเสริมให้กลับไปอยู่กับครอบครัว ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ไม่มีญาติจะได้รับการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้พึ่งพาตัวเองได้
นายเสาร์ ชาญชำนิ ผู้ใหญ่บ้านหนองไฮ ต.สวนจิก อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า มีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยสอนการปลูกเห็ด เลี้ยงไก่ เพื่อนำไปขาย
“ แรกๆ เห็ดกับไก่ขายดี แต่เมื่อผู้ซื้อรู้ว่าเห็ดและไก่มาจากศูนย์แห่งนี้ก็ไม่มีใครซื้อ ไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าทำไมไม่ซื้อ ทำใจไม่ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้” นายเสาร์ กล่าว
นายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่าที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐจะคอยดูแลให้ผู้ติดเชื้อ ต้องไปตรวจสุขภาพและรับยาเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งได้รับเงินเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาท จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเงินช่วยเหลือจาก พมจ. คนละ 6,000 บาทต่อปี
“เราไม่ได้ทอดทิ้ง ทุกส่วนราชการหรือแม้แต่รพ.ที่นี่ เมื่อเกิดเหตุป่วยไข้ก็จะเข้ามาดูแล ในวันนี้ลงมาดูพื้นที่และสั่งการให้ทุกหน่วยเข้ามาดูแล อะไรก็ตามที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้มันถูกต้องให้หมด เพราะที่นี่ถือว่าเป็นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และวัดได้นำที่นี่มาเป็นศูนย์พักพิง ซึ่งสธ.ก็มาดูแลตลอด” นายเฉลิมพล กล่าว
การเผยแพร่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์สงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี วัดป่าศรีมงคล ได้รับสิ่งของและเงินบริจาคเพิ่มมากขึ้น โดยเงินส่วนหนึ่งพวกเขาจะรวบรวมเพื่อใช้ในการพัฒนาอาชีพเลี้ยงเป็ด ไก่ และหมู เพื่อส่งขายหารายได้ ขณะที่ชุมชนจะมีการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านให้รับซื้อผลผลิต เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น