วันนี้(7 ก.พ.2560) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่พร้อมด้วยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เข้ายื่นจดหมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ กทม.มีมาตราการรับมือสถานบันเทิงและร้านเหล้าช่วงวันวาเลนไทน์ หลังพบสถานบันเทิงบางแห่งติดป้ายโฆษณาลดแลกแจกแถมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อจูงใจลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่อลวง ล่วงละเมิดทางเพศ อาชญากรรม และอุบัติเหตุ โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบ
ขณะที่ กทม.ยืนยันว่า ได้มอบหมายให้สำนักอนามัยประสานงานกับทั้ง 50 เขต ในการดูแลและเฝ้าระวังในช่วงวันวาเลนไทน์ โดยเฉพาะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และการเปิดสถาบันเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด
ด้าน ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ และมาฆบูชา พบว่าบรรยากาศของเทศกาลวาเลนไทน์ไม่ค่อยคึกคักเนื่องจากดอกไม้แพงแต่เทศกาลมาฆะบูชาจะคึกคักกว่าเพราะประชาชนมองว่าเศรษฐกิจแย่ทำให้หันมาทำบุญมากขึ้น อีกทั้งเป็นช่วงวันหยุดยาวจึงชะลอใช้จ่ายวันวาเลนไทน์ไป เพื่อเก็บเงินไปเที่ยวแทน อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงวันวาเลนไทน์จะมีเงินสะพัด 3,700 ล้านบาท ไม่ต่างจากปีที่แล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.87
สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายในการไปทานข้าวนอกบ้านมากที่สุดร้อยละ 47 เฉลี่ย 1,231 บาท รองลงมา ซื้อของขวัญ ร้อยละ 35 เฉลี่ย 977 บาท และซื้อดอกไม้ ร้อยละ 31 เฉลี่ย 315 บาท ขณะที่ ดอกไม้ที่จะมอบให้กัน อันดับ 1 คือดอกกุหลาบ ร้อยละ 82.9 รองลงมา ดอกทิวลิป ร้อยละ 8 และดอกลิลลี่ ร้อยละ 3.5 สำหรับการซื้อสินค้านั้น ดอกไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 ของขวัญ ร้อยละ 33.6 และอาหารร้อยละ 28.5
ขณะที่ พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันมาฆบูชาซึ่งเป็นช่วงวันหยุด 3 วัน ด้านการท่องเที่ยวน่าจะมีความคึกคักมากกว่าปีก่อน คาดจะเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 3,100 ล้านบาท แต่หากประเมินเงินหมุนเวียนทั้ง 2 เทศกาลอยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 ล้านบาท