เดือนสิงหาคมปี 2555 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรวจความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ และท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งเริ่มเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หลังรัฐบาลประกาศแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2553-2563 (PDP 2010)
ปี 2557 กฟผ.พยายามนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังใช้ถ่านหินจากเหมืองผลิตกระแสไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2507 และเมื่อถ่านหินหมดจึงปลดออกจากระบบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2538 ต่อมาเปิดการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้ง วันที่ 28 มกราคม 2547 ด้วยน้ำมันเตา และปรับมาใช้น้ำมันปาล์ม
ขณะที่ชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่า ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านและขยายแนวร่วมไปยังชุมชนอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ
ความขัดแย้ง เรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ส่อเค้ารุนแรงขึ้น เมื่อมีการใช้กำลังทำร่างกาย และข่มขู่ประชาชนที่คัดค้านโครงการในเวทีรับฟังความเห็น โครงการท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินบ้านคลองรั้ว หลังจากนั้นมีการนำเครื่องจักรกลเข้าไปสำรวจพื้นที่ นำไปสู่เผชิญหน้าระหว่างกลุ่มสนับสนุนกับกลุ่มคัดค้าน และมีเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด
เดือนกันยายน 2557 การใช้กำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายเข้ามาควบคุมผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเพื่อทบทวนร่าง EHIA ของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าไปแสดงความเห็นในเวทีนี้ได้
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ.ยืนยันว่าการทำ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นไปตามกรอบกฎหมาย กฟผ.ได้นำข้อเสนอของประชาชนมาปรับปรุงรายงาน ก่อนส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
10 ก.ค.2558 ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2 คน ตัดสินใจอดอาหารที่หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หลังจาก กฟผ.ประกาศเดินหน้ายื่นซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ภายในวันที่ 22 ก.ค. โดยเครือข่ายแถลงการณ์ยืนยันว่า 3 ปีที่ผ่านมาได้ใช้กระบวนการทุกอย่างในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ ให้หยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และหาทางออกด้วยการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ขณะที่ประชาชนจากหลายภาคส่วน เดินทางมาให้กำลังใจทั้ง 2 คน และร่วมกิจกรรมรณรงค์ นอกจากนี้มีแถลงการณ์จากองค์กรต่างๆ ออกมาสนับสนุน
ตัวแทนรัฐบาลเจรจากับเครือข่าย ระบุว่า จะนำข้อเรียกร้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา ได้แก่ ให้หยุดประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หยุดกระบวนการพิจารณารายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือ และจัดตั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายเพื่อผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนในจังหวัดกระบี่ ภายใน 3 ปี
20 กค.2558 ภายหลังตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2 คน อดอาหารเป็นเวลา 10 วัน ทางกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรี
22 ก.ค.2558 สถานการณ์การชุมนุมตึงเครียดขึ้น และมีชาวบ้าน จ.กระบี่ และพื้นที่ภาคใต้เดินทางมาสมทบกับผู้ชุมนุม หลังนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นช่วงบ่ายวันที่ 21 ก.ค.2558
23 ก.ค.2558 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินการชุมนุมยุติการชุมนุมในช่วงค่ำ หลังนายกรัฐมนตรี พิจารณาและรับฟังข้อเสนอจากเครือข่าย
24 ก.ค.2558 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ประชาชนในจังหวัดกระบี่ ตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน กฟผ.และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปในเรื่องต่างๆ โดยรัฐบาลจะไม่มีการลงนาม หรือกระทำใดๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายจนกว่าจะมีข้อสรุปจากที่ประชุม 3 ฝ่าย
17 ก.พ.2560 กพช.มีมติให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขณะที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยืนยันจะปักหลักชุมนุมคัดค้านบริเวณทำเนียบรัฐบาล