นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงนโยบายในการดำเนินงานขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน (ไอซียู) ว่า นโยบายดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการศึกษาด้านต่างๆ เช่น ผลสัมฤทธิทางการเรียนต่ำ อาคารเรียนชำรุดทรุดโทรม ขาดแคลนบุคลากร และสิ่งแวดล้อมทางการเรียน รวมทั่วประเทศ 6,964 แห่ง
นพ.ธีระเกียรติ ยอมรับว่ายังกังวลในเรื่องของงบประมาณที่ไม่เพียงพอ เพราะมีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยจะจัดอันดับตามกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจริงๆ คือ โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ รองลงมาคือ โรงเรียนที่ขาดสาธารณูปโภค เช่น ห้องน้ำไม่เพียงพอ หรือไม่มีไฟฟ้า เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์เสียหาย พร้อมเน้นย้ำว่า โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน (โรงเรียนแม่เหล็ก) จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาโรงเรียน ไอซียู เพราะโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากบริหารจัดการตนเองไม่ไหว และต้องควบรวมให้อยู่รอด
อย่างไรก็ตาม นพ.ธีระเกียรติ ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นงบประมาณนี้ จะแก้ปัญหาโรงเรียนไอซียูได้อย่างชัดเจนและไม่มีโรงเรียนสมัครเข้าโครงการซ้ำ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ได้รับการแก้ปัญหาด้านกายภาพแล้ว เช่น ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งหลังจากนี้ผู้บริหาร ศธ.จะลงพื้นที่เพื่อประเมินสภาพปัญหา
"ไอซียู คือทำให้หายพะงาบ ผมต้องการหยุดไอซียูภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ เพราะถ้ามีต่อไปเรื่อยๆ แสดงว่าบ้านเรามีแต่ไอซียู รักษาไม่หาย นโยบายนี้ชี้ให้เห็นว่าควรจะดูจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ดูคนที่เขาขาดที่สุด โดยเฉพาะฝ่ายบริหารที่ต้องรู้จักฟังเสียงข้างล่าง จัดสรรงบประมาณให้ตอบโจทย์จริงๆ" นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดโอกาสให้ทางโรงเรียนสำรวจสภาพและพิจารณาขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง โดยมีโรงเรียนทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว 6,964 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 4,469 แห่ง โรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 364 แห่ง และโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ 2,131 แห่ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.90 มีปัญหาวิกฤตด้านกายภาพ เช่น อาคารชำรุด ห้องน้ำไม่เพียงพอ ขาดสื่อการเรียนการสอนและคอมพิวเตอร์ รองลงมา ร้อยละ 26.52 มีปัญหาวิกฤตด้านบุคลากร และ ร้อยละ 20.22 มีปัญหาวิกฤตด้านคุณภาพการศึกษา หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กต่ำกว่ามาตรฐาน