วันนี้ (24 ก.พ.2560) วงเสวนา "ไทยถึงเวลาพัฒนาระบบรับมือผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนสายเกินแก้แแล้วหรือยัง" โดยถอดบทเรียน กรณีเหตุเสียชีวิตของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่หัวใจวายระหว่างฝึกซ้อม ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางพัฒนาระบบรับมือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ระบุว่า แต่ละปีมีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 25 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลกว่า ร้อยละ 72 มีเพียง ร้อยละ 11 เท่านั้น ที่รอดชีวิตปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด เพื่อขอความช่วยเหลือจากสายด่วน 1669 และปั๊มหัวใจปฐมพยาบาลระหว่างรอทีมกู้ชีพเข้าช่วยเหลือ
สำหรับ กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือ ผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน หากเกิดภาวะแน่นหน้าอก ควรพกยาแก้อาการหัวใจขาดเลือด (ไอเอสดีเอ็น) ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ราคาเม็ดละ 2 บาท ติดตัวไว้ 2 เม็ด เมื่อเกิดอาการให้อมไว้ใต้ลิ้นทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ถึง ร้อยละ 2-15 ยกเว้นผู้ที่กินยาไวอากร้าจะมีผลข้างเคียง
ขณะที่ นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ระบุว่า ควรจัดประเมินความเสี่ยงและความพร้อมช่วยเหลือของระบบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงคือ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สนามฟุตบอล รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบปฏิบัติการสามารถปฏิบัติได้จริงทุกสถานการณ์