วันนี้(2มี.ค.2560) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์คดี พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย อดีตรอง ผบ.ตร. ซึ่งเดินทางมารับทราบข้อหาคดีบุกรุกสร้างบ้านพักในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา จำนวน 13 ไร่ กองบังคับการปราบปรามว่า ขณะ นี้ต้องรอขั้นตอนทางกฎหมายทั้งหมดก่อน และดูว่าศาลจะรับฟ้องหรือไม่
แต่กรมอุทยานฯ ยืนยันว่าทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับรีสอร์ทบุกรุกเขตอุทยานทุกพื้นที่ อยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด แต่ที่ผ่านมายอมรับว่า คดีรีสอร์ทในพื้นที่วังน้ำเขียว ทับลาน ที่เคยมีปัญหาอาจจะล่าช้าไปบ้าง เพราะบางคดียังอยู่ในขั้นตอนการชั้นพนักงานสอบสวน และในชั้นศาล บางคดียังไม่ตัดสินลงมา ซึ่งกรมอุทยานฯคงไม่สามารถเข้าไปก้าวกายการทำงานของชั้นพนักงานสอบสวน หรือศาลได้ แต่ก็มีการสอบถามเพื่อติดตามความคืบหน้าเท่านั้น แต่หากคดีสิ้นสุดแล้วการดำเนินการคือจะมีการรื้อถอนบ้านพักและรีสอร์ทออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ
ส่วนนายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา บอกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ทางอุทยานฯ เตรียมความพร้อมในการเข้าไปติดประกาศตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ให้รื้อถอนที่บริเวณบ้านพักที่บุกรุก ซึ่งเป็นอำนาจทางการปกครอง เพราะถือว่าผู้ถูกกล่าหามาแสดงตัวเป็นเจ้าของและรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว และผู้อ้างครอบครองก็ยังสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้
เมื่อถามว่ามั่นใจในหลักฐานการเอาผิด และทวงคืนพื้นที่อุทยานฯ ถูกบุกรุกหรือไม่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน บอกว่ามีหลักฐาน ตรวจวัดพิกัดจากสัญญาณดาวเทียม เทียบกับแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา พบว่าบริเวณที่ก่อสร้างบ้านพักอยู่ในเขตทับลาน ซึ่งกระบวนการดำเนินคดีก็ต้องรอพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการในการทำสำนวนคดี
ทั้งนี้ในภาพรวมบ้านพักและรีสอร์ทที่บุกรุกป่าทับลาน ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันที่ส่งดำเนินคดี รวม 460 คดี และอยู่ในกระบวนการสอบสวน และอัยการ 260 คดี ส่วนคดีใหม่ยังไม่มี พบส่วนใหญ่เป็นคดีเก่าที่ทำผิดเงื่อนไขและบุกรุกแผ้วถางเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คดีวังน้ำเขียวและทับลาน ไม่ได้ช้ามากหลังจากในปีที่ผ่านมากรมอุทยานฯได้ขอความร่วมมือกับทางตำรวจในการเร่งคดีทั้งหมด จนกระทั่งมีการระดมสอบสวนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาช่วยในการทำคดี
สำหรับมาตรา 22 ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติ ผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้นๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม แล้วแต่กรณีถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่ จะกระทำดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเองก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น