ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จี้กรมอุทยานตรวจสอบ"ใบอนุญาต"วัดเสือกาญจนบุรีฉบับใหม่

สิ่งแวดล้อม
2 มี.ค. 60
20:56
463
Logo Thai PBS
จี้กรมอุทยานตรวจสอบ"ใบอนุญาต"วัดเสือกาญจนบุรีฉบับใหม่
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จี้กรมอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการอนุมัติใบอนุญาตประกอบการสวนเสือให้วัดเสือกาญจนบุรี ระบุแอบยื่นใหม่ ห่วงสวัสดิภาพเสือโคร่ง หลังแนวโน้มสวนเสือไทยใช้ลูกเสือ สร้างความบันเทิงนักท่องเที่ยว

วันนี้ (2 มี.ค.2560) นางสุภาภรณ์ ลาสต์ ผู้อำนวยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประ เทศไทย กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศไม่น้อยกว่า 20 สำนักข่าวทั่วโลก ลงข่าวเกี่ยวกับการอนุมัติใบอนุญาต ให้ผู้ประกอบการสวนเสือที่เคยมีปัญหาและถูกยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วในจ.กาญจนบุรี โดยได้รับอนุมัติให้กลับมาประกอบกิจการอีกครั้ง ภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ ทำให้มีความรู้สึกไม่สบายใจ ต่อมาได้รับจดหมายจากองค์กรสัตว์หลายแห่ง รวมถึงผู้บริหารใหญ่จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก สำนักงานใหญ่ในประเทศอังกฤษ ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อถามถึงสาเหตุ เพราะต่างมีข้อกังวลและห่วงใย ทั้งในแง่ของข้อกฎหมายของประเทศไทย และสวัสดิภาพของเสือโคร่งในอนาคต

ล่าสุด องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำประเทศไทย จึงได้ทำหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอให้ยับยั้งและเพิกถอนใบอนุญาต เนื้อหาในจดหมายเป็นข้อสังเกตและข้อมูลต่างๆ ที่ทางองค์กรฯ อยากให้ทางกรมอุทยาน ได้พิจารณาอีกครั้ง ทั้งในแง่ของกฎหมายและสวัสดิภาพของสัตว์ และพิจารณาการให้ใบอนุญาตกับสวนเสือ

ด้าน ดร.ยาน สมิดท์-เบอร์แบช ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า การทำฟาร์มเสือ ไม่ได้ช่วยในการอนุรักษ์สายพันธุ์ พวกเขาเพียงสร้างความทุกข์ทรมานถึงขีดสุดให้แก่สัตว์ป่า ในขณะที่พวกมันต้องมีชีวิตอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัว โดยสถานที่เหล่านี้จะต้องยุติการดำเนินการ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายอย่างชัดเจน

ในปี 2559 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เสือโคร่งเพื่อความบันเทิงในประเทศไทย และพบว่ามีจำนวนเสือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33 ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี สิ่งที่น่ากังวลที่สุดเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์จากการสำรวจในสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ รวมถึงลูกเสือจะถูกแยกจากแม่ของมันอย่างทารุณ เมื่อมีอายุได้เพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น

“ลูกเสือจะถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว พวกมันจะถูกมอง และถูกลูบสัมผัสนับร้อยๆ ครั้งตลอดทั้งวัน ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเครียด และการบาดเจ็บได้ เสือจะถูกทำโทษเมื่อก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์”

เจ้าหน้าที่จากสวนเสือแห่งหนึ่ง ได้เล่าให้กับนักวิจัยของเราฟังว่าเมื่อเสือทำผิด จะถูกทำโทษโดยการอดอาหาร ที่สำคัญเสือจำนวนมากถูกขังอยู่ในกรงคอนกรีตขนาดเล็ก หรือเพิงพักระบบปิด ซึ่งเราพบว่าร้อยละ 50 ของเสือที่เราทำการสำรวจนั้น ถูกขังอยู่ในกรงที่เล็กกว่า 20 ตารางเมตรต่อ

ซึ่งแตกต่างกันอย่างมากกับพื้นที่ 16-32 กิโลเมตรในป่า ที่พวกมันสามารถเดินไปมาได้ตลอดทั้งคืน และร้อยละ 12 ของเสือโคร่งที่ทำการสำรวจแสดงให้เห็นถึงปัญหาทางด้านพฤติกรรม เช่น การเดินงุ่นง่านไปมา หรือการไล่กัดหางตัวเอง พฤติกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อสัตว์รู้สึกว่ามันไม่สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อม หรือ สถานการณ์ที่ตึงเครียดได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง