ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เส้นทางการเงิน "วัดพระธรรมกาย"

อาชญากรรม
6 มี.ค. 60
19:44
1,651
Logo Thai PBS
เส้นทางการเงิน "วัดพระธรรมกาย"
ตั้งแต่ก่อตั้งวัดพระธรรมกายอย่างเป็นทางการ เมื่อ ปี 2513 ทางวัดได้ระดมเงินทุนเข้าบริจาคอย่างต่อเนื่อง ประเมินกันว่าเงินบริจาคจากหลายหลายเส้นทาง อาจมีมากนับ 10,000 ล้านบาท และเงินจำนวนมากเหล่านี้ ถูกผ่อนถ่ายไปลงทุนกับการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

การบริหารจัดการเงินบริจาค วัดพระธรรมกาย ดำเนินงานโดยมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง สิ่งก่อสร้างที่ได้ชื่อว่า ใช้เงินลงทุนด้านการก่อสร้างมากที่สุดอาคารหนึ่งคือ อาคาร 100 ปี คุณยายจันทร์ ขนนกยูง ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 5,000 ล้านบาท อาคารจอดรถวัดพระธรรมกาย เป็นอีกอาคาร มีมูลค่าการก่อสร้าง มากกว่า 2,600 ล้านบาท โครงการเวิลด์พีซ วัลเลย์เขาใหญ่ มีมูลค่าการลุงทุน 3 เฟซ จำนวนมากกว่า 1,500 ล้านบาท และโครงการนี้ยังถูกตรวจสอบปัญหาการบุกรุกและใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์

นอกจากนั้น วัดพระธรรมกายยังมีโครงการก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุ บนพื้นที่ 2,000 ไร่ ย่านคลองหลวง จ.ปทุมธานี และอีกหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด มีรายงานการตรวจสอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าโครงการต่างๆ ของวัดพระธรรมกาย ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเงินที่ได้จากการบริจาค ประมาณการเงินลงทุนทั้งหมด กว่า 13,000 ล้านบาท แต่เงินบริจาคจะอยู่ภายใต้การบริหาร โดยมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง หรือ มูลนิธิคุณยายจันทร์ จดทะเบียนก่อตั้ง 30 กรกฎาคม 2547 บริหารงานโดยเครือญาติของนักการเมืองและนักธุรกิจระดับประเทศ เมื่อครั้งก่อตั้งปรากฎชื่อ นางวรรณา จิรกิติ ภรรยาของนักการเมือง และน้องสาวนายบุญชัย เบญจรงคกุล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ

ตำแหน่งนี้มีคณะที่ปรึกษา 5 คนจากวัดพระธรรมกาย ให้คำชี้แนะด้านงานก่อสร้าง 5 คนนี้มีอำนาจคัดเลือกและจัดจ้างในโครงการ

ปลายปี 2549 คณะกรรมการมีมติมอบอำนาจให้นางวรรณา หรือ เลขาณุการมูลนิธิ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนมูลนิธิ และมีอำนาจสั่งจ่ายเงินในจำนวนที่สูงกว่าข้อบังคับของมูลนิธิ

รองประธานกรรมการและกรรมการอีก 5 คน เป็นบุคลากรในแวดวงโฆษณาประชาสัมพันธ์ แวดวงการศึกษา บางคนมีชื่อปรากฎเป็นบุคคลใกล้ชิดของวัดพระธรรมกาย ที่ถูกเรียกว่ากัลยาณมิตร

มูลนิธิคุณยายจันทร์มีบัญชีธนาคาร 7 บัญชี จาก 2 สถาบันการเงิน และ 1 องค์กรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงก่อตั้งแบ่งเป็นบัญชีออมทรัพย์ 4 บัญชี กระแสรายวัน 3 บัญชี ภายหลังโครงสร้างบัญชีเปลี่ยนไปแม้จะมี 7 บัญชีเท่าเดิม แต่มาจากสถาบันการเงิน 2 บัญชี ส่วนอีก 5 บัญชี อยู่ในความดูแลขององค์กรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง