วันนี้ (15 มี.ค.2560) นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กับพวกรวม 10 คน เดินทางมายังศาลอาญาเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่อัยการฟ้องฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย จากกรณีนายจอน กับพวกหลายร้อยคน ได้บุกอาคารรัฐสภาใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจนบาดเจ็บ แล้วยังได้ร่วมกันพูดและส่งเสียงกดดันจนสมาชิกรัฐสภาต้องเลิกการประชุม สนช.ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายจอน 1 ปี 4 เดือน และคนอื่นๆ ตัดสินให้จำคุกตั้งแต่ 8 เดือนถึง 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท แต่ทั้งหมดไม่ เคยกระทำความผิดโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี แต่ศาลอุทธรณ์อุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ขณะที่ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมพร้อมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่จำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับพิเคราะห์ อายุ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา สภาพความผิด และเหตุผลในการกระทำความผิด เห็นว่าพฤติการณ์ยังไม่ร้ายแรง จึงให้รอการกำหนดโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี
สำหรับการรอการกำหนดโทษหมายถึงศาลยังไม่ได้กำหนดโทษในคดี แต่ถ้าในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยมีพฤติการณ์ทำผิดในทำนองเดียวกัน ศาลมีอำนาจติดตามตัวกลับมาเพื่อกำหนดบทลงโทษต่อไป ส่วนจำเลยทั้งหมดประกอบด้วยนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นจำเลยที่ 1, นายสาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำเลยที่ 2, นายศิริชัย ไม้งาม แกนนำพันธมิตร จำเลยที่ 3, นายพิชิต ไชยมงคล จำเลยที่ 4, นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท จำเลยที่ 5, นายนัสเซอร์ ยีหมะ จำเลยที่ 6, นายอำนาจ พละมี จำเลยที่ 7, นายไพโรจน์ พลเพชร จำเลยที่ 8, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง จำเลยที่ 9 และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จำเลยที่ 10
ภายหลังศาลฎีกาพิพากษานายจอน เปิดเผยว่า ขอขอบคุณทนายความที่ทำงานหนักเพื่อช่วยในการต่อสู้คดีและยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวทำไปเพื่อประเทศชาติ เนื่องจากที่ไม่อยากเห็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ออกกฎหมายริดรอน สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเห็นว่าประชาชนควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและคัดค้านการออกกฎหมายได้
ด้าน น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำคำพิพากษาของศาลฎีกาไปพิจารณาว่าเข้าข่ายผิดข้อบังคับของการดำรงตำแหน่ง กสทช.ของตัวเองหรือไม่ โดยจะส่งคำพิพากษาให้ฝ่ายกฎหมายของตัวเอง และ กสทช. พิจารณาด้วย เพราะกรณีนี้ศาลยังไม่มีการกำหนดโทษ จึงยังไม่มีความชัดเจน