วานนี้(16 มี.ค.2560)การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา โดยพิจารณาผ่านไปได้ 3 มาตรา เนื่องจากที่ประชุมให้น้ำหนักการอภิปราย ไปที่นิยามของระบบเกษตรพันธสัญญา ที่ร่างเดิมซึ่งผ่านความเห็นชอบในวาระ 1 กำหนดให้หมายถึงการรวมกลุ่มของเกษตรกรตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป แต่กรรมาธิการได้ปรับแก้เป็นบุคคล ซึ่งหมายถึงเกษตรกรเพียงคนเดียวก็เข้าข่ายนิยามนี้ แต่สุดท้าย ผลโหวตกลับไปที่ร่างเดิมของรัฐบาล ไปฟังคำอภิปราย และคำชี้แจงก่อนที่จะมีการลงมติเรื่องนี้
หลังใช้เวลาในการอภิปรายนานกว่า 1 ชั่วโมง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ขอให้มีการลงมติ ในมาตราที่ 3 ที่ว่าด้วยนิยามของระบบเกษตรพันธสัญญา โดยสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้เนื้อหาของคณะกรรมาธิการ ทำให้นิยามของระบบเกษตรพันธสัญญา กลับไปตามร่างเดิม คือต้องเริ่มจากเกษตรกรตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป
นอกจากนั้นที่ประชุมยังลงมติตัดมาตรา 2/1 ในวงเล็บ 2 ที่กรรมาธิการเพิ่มเติมเข้าไปจากร่างเดิม ซึ่งมีเนื้อหา ไม่ให้นำบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บงคับระงับข้อพิพาทในระบบเกษตรพันธสัญญาตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยกรรมาธิการให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมา เกษตรกรมีอำนาจต่อรองน้อย หากเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แต่ควรให้ไปตัดสินที่ศาลแทน
แต่ผลการลงมติดังกล่าวเท่ากับว่า หากเกิดปัญหาขึ้นระหว่างเกษตรกร กับภาคเอกชน การแก้ปัญหาจะกลับไปยังร่างเดิม คือ เริ่มจากการไกล่เกลี่ย หากไม่เป็นผล เข้าสู่ระบบอนุญาโตตุลาการ และสุดท้ายไปยังศาล
หลังจากนั้นมีสมาชิกได้เสนอให้กรรมาธิการถอนร่างดังกล่าวไปทบทวนในมาตราที่เหลือเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ประชุมเกี่ยวกับคำนิยามก่อนนำมาเสนอต่อที่ประชุมใหม่ ซึ่งกรรมาธิการและที่ประชุมเห็นด้วย