ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ป.ป.ช.เสนอ ผบ.ตร.พิจารณาโทษ ตร.คดีทุจริตจัดซื้อมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์

อาชญากรรม
21 มี.ค. 60
11:46
1,599
Logo Thai PBS
ป.ป.ช.เสนอ ผบ.ตร.พิจารณาโทษ ตร.คดีทุจริตจัดซื้อมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์
ป.ป.ช.ส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้ลงโทษทางวินัยนายตำรวจระดับสูง 4 นาย จากกรณีทุจริตจัดซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์เมื่อปี 2550


วันนี้ (21 มี.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการปัองกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ลงโทษทางวินัย นายตำรวจ 4 นาย ที่มีความผิดวินัยร้ายแรง กรณีทุจริตจัดซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไทกอร์ รุ่นบ็อกเซอร์ 200 เมื่อปี 2550 รวม 19,147 คัน มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท ประกอบด้วย พล.ต.ทประชิน วารี, พล.ต.ต.สมพงษ์ น้าเจริญ, พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ และพล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ โดยขณะนี้ มีเพียง พล.ต.ต.อิทธิพล ที่ยังรับราชการ และเพิ่งเลื่อนยศเป็น พล.ต.ท. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการประจำตำรวจ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเป็นการภายใน ซึ่งตำรวจที่ถูกกล่าวหามีทั้งอยู่ในราชการและเกษียณอายุราชการไปแล้ว หากพิจารณาโทษตำรวจที่รับราชการก็จะมีโทษ 7 สถาน ประกอบด้วย ภาคทัณฑ์/ทัณฑกรรม หรือการเพิ่มภาระงานจากงานประจำ กักยาม กักขัง ตัดเงินเดือน ปลดออก และไล่ออก เสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณา

สำหรับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการพิจารณาเรื่องนี้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง สรุปว่า พล.ต.ท.ประชิน, พล.ต.ต.สมพงษ์ และ พล.ต.ต.อิทธิพล มีมูลความผิดวินัยร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎระเบียบทางราชการ และฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ส่วน พล.ต.ต.สัจจะ ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบเพื่อให้ตนหรือผู้อื่นรับประโยชน์ที่มิควรได้

ย้อนรอยทุจริตจัดซื้อมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์
สำหรับการจัดซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ รุ่นบ็อกเซอร์ 200 มีขึ้นในปี 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นรถยนต์สายตรวจและสายตรวจจราจร แต่ปรากฏว่า เมื่อนำรถมอเตอร์ไซค์มาใช้ กลับพบปัญหามากมาย จากจำนวนทั้งหมด 19,147 คัน ปรากฏว่าแทบใช้การไม่ได้ ศูนย์บริการมีเพียงแห่งเดียว และตำรวจก็ต้องจ่ายค่าซ่อมแซมเอง จนทำให้ต้องถูกจอดทิ้้งไว้นับหลายร้อยคัน กลายเป็นสุสานจักรยานยนต์ไทเกอร์

กรณีทุจริตโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์ทดแทนจำนวน 19,147 คัน วงเงินกว่า 1,400 ล้านบาท มีการลงนามจัดซื้อจัดจ้างไปเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2550 ราคากลางตามงบจัดซื้อคันละ 65,000 บาท เพื่อแจกจ่ายให้ตำรวจตามสถานีต่างๆ ทั่วประเทศ 1,447 แห่ง แต่ปรากฏว่าไม่สามารถใช้การได้จริง จึงมีการตรวจสอบการทุจริต พบว่าโครงการดังกล่าวเปลี่ยนการกำหนดคุณลักษณะรถจักรยานยนต์จากขนาด 150 ซีซี มาเป็นไม่เกิน 200 ซีซี และกำหนดสเปกโรงงานผู้ผลิตต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทำให้มีแต่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์ รุ่นบ็อกเซอร์ 200 เท่านั้นที่สามารถเข้าเสนอราคาได้อย่างถูกต้องเพียงรายเดียว

อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบเงื่อนไขการประกวดราคาที่กำหนดให้ต้องมีศูนย์ซ่อมบำรุงทั่วประเทศ แต่ปรากฏว่า บริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด ผู้ชนะประมูล ไม่มีศูนย์ซ่อมและตัวแทนจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ยังพบปัญหาในการใช้งาน เช่น อัตราเร่งไม่สามารถทำความเร็วได้เท่ากับรถยี่ห้ออื่นในท้องตลาด และเมื่อรถเสีย ตำรวจก็ไม่สามารถนำเข้าซ่อมแซมที่ศูนย์ซ่อมบำรุงได้ และพบปัญหาน้ำมันรั่วจนไม่สามารถใช้การได้ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เงินส่วนตัวในการซ่อมแซมเอง กระทั่งตัดสินใจจอดทั้งไว้เป็นจำนวนมาก และตำรวจหลายนายใช้เงินส่วนตัวซื้อรถจักรยานยนต์มาใช้ปฏิบัติหน้าที่เอง

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง