นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. แนะนำวิธีป้องกันตัวเองจากโรคพิษสุนัขบ้า ด้วย "คาถา 5 ย." คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห 2. อย่าเหยียบ อย่าไปเหยีบบหาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขตกใจ 3. อย่าแยก ถ้าไปเห็นสุนัขกัดกัน อย่าแยกด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ หมายถึง อย่าไปหยิบ หรือเคลื่อนย้ายจานข้าว เวลาที่เค้ากำลังกินอาหาร และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จัก หรือไม่มีเจ้าของ
ส่วนมาตรการที่สำนักอนามัยดำเนินการ คือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง ทำหมันเพื่อควบคุมจำนวน และถ้าได้รับแจ้งว่าพบสุนัขบ้า ทีมเฝ้าระวังจะลงพื้นที่ สังเกตอาการ 24 ชั่วโมง นอกจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ยังมีโรคอื่นๆที่มักจะเกิดในช่วงหน้าร้อนด้วย คือ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอย ซึ่งการรับประทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษ ภาวะเหล่านี้ป้องกันได้ด้วยการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เช่น แยกขยะก่อนทิ้ง และทิ้งขยะให้ถูกที่
อีกโรคที่อาจเกิดขึ้นในฤดูร้อนได้ง่าย คือ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อน (Heat Illness) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป สูญเสียน้ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ทัน จนทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น แบ่งตามความรุนแรงจากน้อยไปหามากเป็น 4 ประเภท ดังนี้ ภาวะลมแดด (heat syncope) ภาวะตะคริวจากความร้อน (heat cramps) ภาวะอ่อนเพลียจากความร้อน (heat exhaustion) และโรคลมแดด (heat stroke) ซึ่งจะไม่มีเหงื่ออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจหมดสติ หรือชักเกร็ง
ทั้งนี้ หากพบผู้ที่น่าสงสัยว่าเป็นลมแดด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล และระหว่างนั้นควรรีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่อากาศร้อนเข้าที่ร่ม เปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเท คลายเสื้อผ้าผู้ป่วยออก ถ้าผู้ป่วยไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเย็นปริมาณมาก ทำให้ตัวผู้ป่วยเย็น โดยใช้พัดลมเป่า ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว หรือพ่นละอองน้ำบนตัวผู้ป่วย หากผู้ป่วยหมดสติและอาเจียนให้จับศีรษะผู้ป่วยหันไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลัก