วันนี้(19 เม.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรือสำรวจแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ 3 ลำ และขนาดเล็ก 4 ลำ ของ บริษัท CCCC Second Habor Consultant บริษัทที่ปรึกษาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่ถูกว่าจ้างให้สำรวจแม่น้ำโขง ตามโครงการความร่วมมือการสำรวจร่องแม่น้ำโขง ในเขตแดนไทยและลาว ได้เข้าเทียบท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
นายหลิว เจี้ยน หัวหน้าคณะสำรวจของจีน ระบุว่า จะสำรวจร่องแม่น้ำโขง เฉพาะร่องน้ำที่ติดกับชายแดนไทยและลาว ด้านจังหวัดเชียงราย รวม 15 จุด ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน ถึงสุดเขตแดนไทยที่ อ.เวียงแก่น โดยใช้ระยะเวลา 55 วัน
ด้าน น.อ.ชลทัย รัตนเรือง ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง หรือ นรข. เขตเชียงราย ระบุว่า ทหารจะทำหน้าที่ร่วมกับกรมเจ้าท่า ออกติดตามพร้อมเรือสำรวจของจีน เพื่อให้ดำเนินการตามข้อตกลง ที่ยื่นต่อฝ่ายไทย
ส่วนนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายฮักเชียงของ จ.เชียงราย ยืนยันไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้านตลอดลุ่มแม่น้ำโขง จึงจะร่วมกับชาวบ้าน ออกมาเคลื่อนไหว ให้ยุติการสำรวจ
การสำรวจแม่น้ำโขงครั้งนี้ จะเน้น 4 ด้าน คือ ด้านชลศาสตร์ เช่น ร่องน้ำ ความเร็วน้ำ ความลึก การไหลของทางน้ำ ด้านธรณีศาสตร์ เช่น ชั้นหิน เกาะแก่ง ด้านสภาพภูมิประเทศ เช่น ต้นไม้ ป่าไม้ โขดหินและด้านวิศวกรรม ซึ่งผลการศึกษา รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ จะเสนอให้กับรัฐบาลไทย
สำหรับโครงการสำรวจแม่น้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติ คือไทย ลาว เมียนมา และจีน ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งจีนรับดำเนินการตั้งแต่ เมืองซือเหมา มณฑลยูนนาน-แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว ระยะทาง 809 กิโลเมตร
โดยว่าจ้างเอกชนดำเนินการในระยะแรกในแม่น้ำโขงแล้ว 11 จุด ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน ลาว และเมียนมา ยกเว้นจุดคอนผีหลง ซึ่งเป็นเกาะแก่งที่ติดกับอ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้ถูกองค์กรเอกชนและประชาชนต่อต้าน รวมทั้งรัฐบาลไทย ยังไม่มีการอนุมัติ
ต่อมาบริษัทเดียวกันได้ดำเนินการระยะที่ 2 เพื่อให้เรือสินค้าขนาด 300 ตัน แล่นได้เกือบตลอดทั้งปี โดยส่งเรือสำรวจในพื้นที่อื่นๆหมดแล้ว เหลือเพียงจุดที่ติดกับประเทศไทย กระทั่งคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในการสำรวจแม่น้ำโขง ทำให้เรือสำรวจจีนกลับมาอีกครั้ง