วันนี้ (29 เม.ย.2560) นายจิรชัย อาคะจักร นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครง การศึกษาประชากร โครงสร้าง และเส้นทางการหากินของช้างป่า กลุ่มป่าภูเขียว - น้ำหนาว กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 20-25 เม.ย. ที่ผ่านมา ทีมสำรวจประมาณ 60 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ศูนย์พัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ 2 อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจประชากรช้างป่าโดยการเดินเท้าเข้าสำรวจในพื้นที่ที่เป็นแหล่งที่อยู่ของช้างป่า ครอบคลุมพื้นที่ร่องรอยการปรากฏของช้างป่า ครอบคลุมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและแนวเชื่อมต่ออุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
นายจิรชัย บอกว่า สำหรับวิธีการนับช้างป่า มี 3 รูปแบบ คือใช้วิธีการนับตัวโดยตรงพร้อมถ่ายรูป หรือหากมีการพบร่องรอยใหม่สดก็ทำการเก็บข้อมูลทางอ้อมจากรอยตีนหรือกองมูล นอกจากนี้ยังใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วติดตามร่องรอยเส้นทางการเคลื่อนที่หากินใหม่สด แล้วตรวจนับประชากรทางอ้อมจากรอยตีนและกองมูล หรือพบเห็นตัวโดยตรงก็ตรวจนับแล้วบันทึกภาพ และการวางกล้องดักถ่ายภาพช้างป่าในระยะทุกๆ 3 กิโลเมตรคลอบคลุมทั้งพื้นที่ป่าภูเขียว
ผลการสำรวจปรากฎว่า พบเห็นช้างป่าโดยตรง สามารถบันทึกภาพได้ 22 ตัว และจำนวนประชากรช้างป่าของเขตฯ ภูเขียว รวมทั้งที่พบเห็นตัวโดยตรงและจากรอยตีนและกองมูลใหม่สด รวม 102 ตัว แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มช้างฝูงใหญ่ และ 4 กลุ่มช้างโทน ส่วนชนิดพืชอาหารหลักที่ช้างป่าหากินได้แก่ หญ้าคมบาง ตองพลวง ไผ่บง รากต้นก่อน้ำ กระไดลิง หวาย กำยาน ปอแก่นเทา โดยข้อมูลทั้งหมดจะทำเป็นรายงานเพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์ช้างป่าต่อไป