ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสร.เพิ่มคดีอาญาบริษัทรับเหมารถไฟฟ้าสายสีแดง-พบอุบัติเหตุ 6 ครั้ง

สังคม
29 เม.ย. 60
13:01
1,265
Logo Thai PBS
กสร.เพิ่มคดีอาญาบริษัทรับเหมารถไฟฟ้าสายสีแดง-พบอุบัติเหตุ 6 ครั้ง
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตรียมพิจารณาเอาผิดทางอาญากับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง หลังเกิดอุบัติเหตุจนมีคนงานเสียชีวิตมาแล้วถึง 6 ครั้งรวม 8 ราย ขณะที่จุดเกิดเหตุพบร่องรอย "ทรัค" สำหรับค้ำยันขาด

วันนี้ (29 เม.ย.2560) นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบเหตุโครงสร้างเหล็กสะพานยึดตอม่อ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง หล่นทับคนงานเสียชีวิต 3 คนเมื่อคืนที่ผ่านมา เพื่อเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน

นายธเนศ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่พบข้อบกพร่องของอุปกรณ์แต่พบว่า ทรัคสำหรับค้ำยันและรับน้ำหนักแผ่นปูนรางรถไฟฟ้าขาดในลักษณะตัดขวาง และตามหลักการก่อสร้างบริเวณยึดตอม่อจะมีเส้นยึดโครงสร้างอยู่ 6 เส้น ขณะนี้พบเพียง 1 เส้น เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบหาเส้นที่เหลือให้ครบเพราะสำคัญต่อการพิสูจน์ โดยจะนำเหล็กที่ขาดไปทดสอบในห้องปฎิบัติการเพื่อหาว่าเหล็กขาดจากแรงอะไร ซึ่งจากที่ตรวจสอบคาดว่าเกิดจากแรงเฉือน

ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้โทรศัพท์สอบถามกับบริษัทที่รับเหมา โดยมีนายรัฐกร จิตศรีพิทักษ์เลิศ วิศวกรผู้ควบคุมงาน ชี้แจงว่าชิ้นส่วนประกอบตัวที่หล่นลงมาเรียกว่า "ทรัค" มีไว้สำหรับค้ำยันและรับน้ำหนักแผ่นปูนรางรถไฟฟ้าและอีกชิ้นคือตัวค้ำยัน ตามปกติแล้วทรัคจะต้องเลื่อนไปตามรางเหล็กสีส้ม เพื่อเลื่อนจากเสาหนึ่งไปอีกเสาหนึ่ง แต่ระหว่างที่ทรัคกำลังเลื่อนไปรางเหล็กรับน้ำหนักไม่ไหว ทรัคจึงหล่นลงมาพร้อมคนงาน 3 คน เสียชีวิต

 เพิ่มคดีอาญาบริษัทรับเหมาพบอุบัติเหตุบ่อยตาย 8 ราย

ขณะที่นายสุเมธบอกว่า โครงการนี้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างมาแล้ว 6 ครั้ง รวมถึงครั้งนี้ด้วย และมีแรงงานเสียชีวิต รวม 8 คน ซึ่งที่ผ่านมา กสร. เคยดำเนินการเอาผิดเป็นโทษปรับในอัตรา 400,000 บาท แต่ครั้งนี้จะพิจารณาเอาผิดทางคดีอาญา และทางบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะต้องชี้แจงให้ได้ว่า เมื่อเกิดเหตุขัดข้องในการก่อสร้าง ทำไมถึงไม่กันแรงงาน ออกจากพื้นที่แต่ยังดำเนินการต่อจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ทั้งนี้ หากพบว่าเกิดจากความประมาท จะส่งตัวแทนแจ้งความดำเนินคดีอาญา ในข้อหาฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ซึ่งครั้งนี้จะชดเชยตามสิทธิจากกองทุนชดเชยให้คนงานที่เสียชีวิต นอกจากดำเนินคดีอาญาแล้ว กระทรวงแรงงานมีอำนาจในการสั่งปรับปรุงแก้ไข หากไม่แก้ก็จะสั่งระงับการทำงานของบริษัททันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ในเดือน พ.ค.59 เคยเกิดอุบัติเหตุเครนล่นทับรถ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 1 คน นอกจากนี้ ในปี 2558 ก็เคยเกิดเหตุเครนล่มขวางทางรถไฟใกล้สถานีดอนเมือง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง