วันนี้ (3พ.ค.2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะ กรรม การทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.ครั้งที่ 1 ของปี 2560 ว่า รัฐบาลจะเร่งรัดเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ได้ภายในปีนี้ โดยจะเน้นการแบ่งย่อย เป็นโครงการขนาดเล็กให้มากขึ้นเพื่อให้ถึงมือผู้ใช้นำให้มากที่สุด หลังโครงการขนาดใหญ่ติดปัญหาทั้งการประชาพิจารณ์ และคัดค้านจากคนในพื้นที่
โดยอาจเลือกใช้วิธีการปลดล็อค โดยนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. พร้อมเตรียมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรทั้ง น้ำ ดิน และป่าไม้ขึ้น ภายในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบริหารนโยบาย ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ
การประชุม กนช. ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นให้มีการทบทวน แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั่วประเทศ เพื่อการช่วยเหลือเกษตรกรรวมถึงการประกันภัยทางการเกษตร
พร้อมทั้งเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลน้ำ ป่า และที่ดิน โดยให้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นอิสระ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะออก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
กนช.ไฟเขียวซ่อม 1 หมื่นแหล่งน้ำท้องถิ่น
ด้าน นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยา กรน้ำแห่งชาติ บอกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำโดยความร่วมมือของกองทัพบกร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ จำนวน 22 โครงการ ในพื้นที่ 15 จังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก และกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร 2,600 ไร่ มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3.57 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกอบด้วย บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ กว๊านพะเยา และ หนองหาร โดยให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน ร่วมกันศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากน้ำของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ซึ่งมีศักยภาพนำน้ำมาใช้รองรับการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมทั้งให้กรมทรัพยากรน้ำ เป็นเจ้าภาพในการหารือ เพื่อเร่งรัดการปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำที่ได้ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปราว 10,000 แห่งทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมเห็นชอบให้มีกลไกกลั่นกรองแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการทรัพ ยากรน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยให้พิจารณาในแต่ละพื้นที่ (Area base) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี