วันนี้ ( 11 พ.ค.2560 ) น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า สถานการณ์ควายป่า (bubalus bubalis) ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 69 ตัว ในบริเวณที่ราบริมลำห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยแบ่งเป็นควายป่าก่อนเต็มวัย รวม 29 ตัว วัยรุ่น 26 ตัว และลูกควาย 6 ตัว ซึ่งกำลังประสบปัญหาภัยคุกคามจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างควายป่ากับควายบ้าน โรคระบาด การลดลงของถิ่นที่อยู่อาศัย การล่าและการรุกรานจากพืชต่างถิ่น
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า กรมอุทยานๆ เตรียมหารือร่วมกรมปศุสัตว์ในการตรวจดีเอ็นเอควายป่า และควายบ้านเพื่อคัดสายเลือดชิดหาพันธุกรรมที่เหมาะสม เพื่อขยายพันธุ์ควายป่าและควายบ้านให้เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเตรียมดำเนินการ 4 โครงการฟื้นฟูควายป่า ภายใน 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 เตรียมสร้างธนาคารพันธุกรรม เพื่อที่จะดำรงฟื้นฟูพันธุกรรมของควายป่าให้มี สายพันธุ์แท้และมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยการจัดเก็บเซลล์พันธุกรรมของควายป่า จะถูกจัดเก็บอย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
นายทศพร ศรีศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ผู้เลี้ยงควายในประเทศไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือเพียง 800,000 ตัว เนื่องจากมีพื้นที่ในการทำนาลดลง คนหันไปใช้เครื่องจักรในการการทำนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนและอนุรักษ์ โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงควายบ้านมากขึ้น ตั้งเป้า 1 ล้านตัว ภายใน 5 ปี
ทั้งนี้ ควายป่า (bubalus bubalis) เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิด เป็นสัตว์ป่าหายาก ทั่วโลกมีน้อยกว่า 4,000 ตัว พบในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฎาน และไทย ปัจจุบันสามารถแบ่งชนิดพันธุ์ ได้ 2 ชนิด คือ ควายป่า (WIld water buffalo) และ ควายบ้าน (water buffalo or domestio asian water buffalo)