วันนี้(11 พ.ค.2560) ทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วม แถลงข่าว “ความสำเร็จในการปล่อยวัวแดงคืนสู่ป่าธรรมชาติอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกของโลก
นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าเขาน้ำพุ ในฐานะหัวหน้าโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ บอกว่า รู้สึกดีใจที่เห็นวัวแดง ที่เพาะขยายพันธุ์จากกรงเลี้ยงสามารถ ปรับตัวอยู่ในป่า และยังเพาะขยายพันธุ์ได้เองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ซึ่งในอดีตเคยมีประชากรมาก แต่ถูกลักลอบล่าจนสูญพันธุ์หายไปจากป่าสลักพระนานนับ 10 ปี โดยมีรายงานเจอลูกวัวแดง ตัวเมียที่ชาวบ้านช่วยชีวิตไว้ได้ครั้งสุดท้ายในปี 2519 และถูกนำมาใช้เป็นแม่พันธุ์เพาะวัวแดงสายพันธุ์ไทยมาหลายรุ่นในกรงเลี้ยง แต่เพิ่งจะเริ่มปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในปี 2557 โดยพบว่าหลังปล่อยวัวแดงตัวผู้ชื่อปีใหม่จับคู่ผสมพันธุ์กับวัวแดงตัวเมียชื่อธารทอง ได้ให้กำเนิดลูกน้อยชื่อฟ้าใหม่ อายุ 1 ปีสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นตัวเมีย แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากกล้องถ่ายภาพ
โดยครอบครัววัวแดง ที่เกิดขึ้นในป่าสลักพระ ได้มีการบันทึกภาพได้ถึง 2 ครั้ง รอบแรก เมื่อวันที่ 22 เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา กล้องดักถ่ายภาพสัตว์สามารถบันทึกภาพนิ่ง และวิดีโอของลูกวัวแดงตัวแรกที่เกิดในธรรมชาติ พร้อมกับครอบครัวในระยะใกล้ชิด โดยพวกมันเดินผ่านหน้ากล้อง ขณะที่ก่อนหน้านี้ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ก็บันทึกภาพครอบครัววัวแดง ครั้งหนึ่ง
พบวัวแดงสายพันธุ์ไทยมีไม่ถึง 500ตัวของโลก
ด้าน รศ. น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่ และสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า โครงการปล่อยวัวแดงสู่ธรรมชาติ เกิดขึ้นครั้งแรกวันที่ 15 ธ.ค.2557 โดยรอบแรกปล่อยวัวแดงจำนวน 4ตัวเป็นตัวผู้ 2 ตัวและตัวเมีย 2 ตัวอายุระหว่าง3-5 ปี และวันที่ 19 ก.ค.2559 อีก 3 ตัวเป็นตัวผู้ 2 ตัวและตัวเมีย 1 ตัวอายุระหว่าง 3-6 ปี โดยทีมวิจัยได้ติดสัญญาณปลอกคอและแกะรอยจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า แต่ต่อมานำระบบปลอกคอ มาผสมกับการจับพิกัดจากดาวเทียม ทำให้พบว่าวัวแดงที่ปล่อยกลุ่มแรก ใช้พื้นที่ครอบคลุมทุ่งสลักพระ คิดเป็นพื้นที่ 50.82 ตารางกิโลเมตร หรือ 31,726 ไร่ ส่วนชุดที่ 2 ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
"เราพบว่าหลังจากปล่อยวัวแดงในปี 2559 ต่อมาอีก 3 เดือน พบว่าวัวแดงทั้ง 2 กลุ่มสามารถรวมฝูงกัน และมีข่าวดีว่าในวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมาช่วงเวลา 16.42 น.กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าสามารถบันภาพนิ่งและภาพวิดีโอของลูกวัวแดงที่เกิดจากการปล่อยไป คาดว่าจะมีอายุ 1 ปีแต่ยังระบุเพศได้ไม่ชัด โดยภายในปลายปีนี้เตรียมจะปล่อยวัวแดงอีก 3 ตัวคืนสู่ป่า ซึ่งตอนนี้อยู่กำลังฝึกเข้ากล่องขนย้าย"
ขณะที่นายสุนทร ฉายาวัฒนะ นักวิชาการด้านสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้วัวแดงสายพันธุ์แท้ในป่าเมืองไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทยที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง เนื่องจากคาดว่าจะเหลืออยู่ไม่ถึง 500 ตัว พบมีการกระจายตัวในกลุ่มป่าสำคัญคือห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และในป่าตะวันตก และป่าทั่วประเทศ ขณะที่ในอดีตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สลักพระที่เคยเป็นแหล่งวัวแดงในอดีตแต่สูญพันธุ์ไปจนกระทั่งเพิ่งปล่อยคืนสู่ป่า 7 ตัวและพบว่าวัวแดงสามารถฟื้นฟูประชากรกลับมาได้ จึงถือเป็นข่าวดีในวงการอนุรักษ์ และกรมอุทยานมีแผนจะฟื้นฟูวัวแดง ในกลุ่มป่าถิ่นอาศัยของวัวแดงเพิ่มเติมในอนาคต
พบวัวแดงปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า จากการทำงานร่วมกันของ 3 หน่วยงานในโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของโลก ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้ปล่อยวัวแดงไปไปแล้วจำนวน 7 ตัว และได้ติดตามหลังการปล่อยอย่างต่อเนื่อง พบว่าวัวแดงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรงดี สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพป่าธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และสามารถให้กำเนิดลูกในป่าธรรมชาติได้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติครั้งแรกของโลก และเป็นก้าวสำคัญของวงการอนุรักษ์สัตว์ป่าเมืองไทย ซึ่งอนาคตจะมีโครงการปล่อยสัตว์ป่าที่เกิดจากกรงเลี้ยง และการแก้ปัญหาสัตว์ที่เริ่มมีประชากรล้น เช่น ช้าง ลิง อีกด้วย