วันนี้ (12 พ.ค.2560) หลังจากไทยพีบีเอสนำเสนอกรณีที่กลุ่มผู้บริโภคร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม "พลัม พรีเมี่ยม" บริเวณถนนพหลโยธิน 89 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เนื่องจากจ่ายเงินดาวน์และค่าผ่อนไปแล้วกว่า 30 งวด และใกล้จะจ่ายครบแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ โครงการก่อสร้างยังไม่เริ่มก่อสร้าง ซึ่งทางโครงการเคยแจ้งว่าจะเข้าอยู่อาศัยได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 และมีผู้ซื้อบางคน ได้เริ่มร้องเรียนไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว
โดยโครงการ "พลัม พรีเมี่ยม คอนโดฯ" นั้น ทางโครงการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ ซึ่งระบุชื่อเจ้าของโครงการคือ "บริษัท พนาลี เอสเตท จำกัด (มหาชน)" (เครือ บ.พฤกษา) มีพื้นที่โครงการ 8 ไร่ เป็นประเภทอาคารชุดสูง 8 ชั้น จำนวน 4 อาคาร มีจำนวน ห้องชุด 948 ห้องชุด ขนาดห้อง 28 ตารางเมตร มีสระว่ายน้ำ 2 สระ ฟิตเนส และสวนพักผ่อนขนาดใหญ่ มีกำหนดเริ่มก่อสร้างกลางปี 2558 และกำหนดแล้วเสร็จกลางปี 2560
นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยกับ"ไทยพีบีเอส"ว่า ขณะนี้ สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นนี้แล้ว 6 คน ซึ่งผู้บริโภคร้องเรียนว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด กับ บริษัท พนาลี เอสเตท จำกัด ในโครงการพลัม พรีเมี่ยม พหลโยธิน 89 เฟส 1 ตั้งอยู่บริเวณถนนประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งมีบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตส จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ มีกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ ภายในเดือนพฤษภาคม 2560 แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้บริษัทยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างโครงการ
ต่อมาผู้บริโภคได้รับแจ้งจากพนักงานขายของบริษัทแจ้งว่า ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมีการฟ้องร้องคดีกัน ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ให้บริษัทฯ คืนเงินทั้งหมด ที่ผู้ร้องได้ชำระไปแล้ว พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย โดยผู้ร้องเรียนทั้ง 6 คน ในจำนวนนี้ มี 2 คน ทางเจ้าหน้าที่เชิญมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และเจรจาไกล่เกลี่ย ปรากฏว่าผู้ร้องและบริษัทสามารถตกลงกันได้ โดยบริษัทตกลงคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 ผู้ร้องเรียนทั้ง 2 คนได้รับเช็คแล้ว ส่วนผู้ร้องเรียนอีก 4 ราย เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ตามขั้นตอนแล้วจะเชิญทั้งฝ่ายผู้ร้องและ ตัวแทนบริษัทมาพบเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และนำไปสู่ขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย
"กรณีปัญหาที่ยังก่อสร้างไม่ได้กว่า 900 ห้องนั้น ขอให้ผู้บริโภคดูในสัญญาของตัวเองว่า กำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์เมื่อไหร และหากใกล้ครบวันโอนแล้วเห็นว่า บริษัทยังมีแนวโน้มจะโอนไม่ได้ หรือทำตามสัญญาไม่ได้ ขอให้ทำหนังสือแจ้งบริษัททราบขอยกเลิกสัญญา เพื่อขอเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญา และเรียกค่าเสียหาย ซึ่งหากบริษัทคืนเงินให้ได้จะจบไป แต่หากบริษัทไม่ได้ตามนั้น สามารถร้องเรียนมาที่ สคบ.ได้ หรือ จะไปฟ้องร้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้เช่นกัน ซึ่งขอฝากถึงบริษัทที่โดนร้องเรียน ถือเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถ้าท่านไม่สามารถก่อสร้าง หรือ ทำตามสัญญาได้นั้น ก็ขอให้แจ้งสิทธิ์ให้ลูกค้ารับทราบ และเสนอสิทธิ์ทางเลือกให้ลูกค้าทราบ จะคืนเงินผ่านช่องทางไหน อย่างไร ท่านรับทราบดีอยู่แล้ว และมีรายชื่อลูกค้าอยู่ในเมื่อท่านแล้ว ปัญหาเหล่านี้ ถ้าบริษัทมีความรับผิดชอบ ดูแลลูกค้า เรื่องราวปัญหาก็คงไม่ต้องมาถึงขั้นให้ผู้บริโภคมาร้องเรียนที่ สคบ."
เมื่อสอบถามถึงปัญหาการร้องเรียนปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ นายพิฆเนศ ระบุว่า ปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนปัญหาทั่วไปเฉลี่ยปีละประมาณ 7,000 เรื่อง ในจำนวนนี้กรณีปัญหาอสังหาริมทรัพย์เกือบ 3,000 เรื่อง โดยปัญหาห้องชุด (คอนโดมิเนียม) ถูกร้องเรียนมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาบ้านเช่า และที่อยู่อาศัยอื่นๆ โดยประเด็นห้องชุด ปัญหาที่เกิดขึ้น 2 แบบ คือไม่โอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา จนนำไปสู่การเรียกร้องค่าเสียหาย และอีกประเด็นคือปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากรับโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่ประเด็นก่อสร้างเล็กๆ น้อย จะมีสัญญาครอบคลุม 2 ปี แต่ถ้ากระทบต่อโครงสร้างจะมีสัญญาครอบคลุม 5 ปี
"ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. และปริมณฑล หรือตามหัวเมือง เช่น พัทยา, ภูเก็ต, หัวหิน, เชียงใหม่ เมืองใหญ่ที่จะสร้างห้องชุด ส่วนบ้านจัดสรรจะสร้างในต่างจังหวัดมากกว่า ซึ่งสิ่งที่ผู้บริโภคจะซื้อนั้น ขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อน เดี๋ยวนี้การตรวจสอบก็ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบที่ดิน กับทางกรมที่ดินว่า บริษัทไหนได้รับอนุญาตการจัดสรรที่ดิน หรือทาง สคบ.ก็สามารถตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิ์ผู้บริโภคได้ กรณีที่ฟ้องไปแล้วยังไม่ได้รับเงินคืน ก็มีเยอะ สิ่งที่ สคบ.คาดว่าคือไม่ต้องการให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ และฝากถึงผู้ประกอบการเมื่อทำธุรกิจแล้ว ควรมองถึงความยั่งยืนมั่นคง เวลามีปัญหาอะไรอยากให้เข้ามาแก้ไขปัญหากับลูกค้า แต่ถ้ามีหนังสือเชิญจาก สคบ. ควรจะมาร่วมแก้ปัญหา ไม่ควรจะให้ สคบ.ออกหนังสือเรียก เพราะมันเปรียบเสมือนการไม่ให้ความร่วมมือ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการทำอะไร ไม่ควรให้เกิดปัญหา ปัญหาความเสี่ยงอะไรต่างๆ ที่บริษัทวิเคราะห์มานั้น ก็ควรจัดการให้เรียบร้อย จะได้ไม่เกิดปัญหาระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจและผู้บริโภค"
ที่ผ่านมา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เคยมีมติให้ดำเนินคดีกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงปี 2541 จนถึปัจจุบัน มีบริษัทที่โดนแบล็กลิสต์ของ สคบ.ไม่ต่ำกว่า 500 บริษัท ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทใด ดำเนินโครงการแล้วละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เพื่อเป็นทางการเลือกในการตัดสินใจ ซึ่งหากโครงการที่เกิดปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมา สิ่งที่ สคบ.สามารถตรวจสอบได้ก่อนกระบวนการ้องเรียน คือการโฆษณาโครงการต่างๆ นำเสนอผู้บริโภค มีข้อมูลใดตรงตามความเป็นจริง หรือ ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญบ้าง ปฏิบัติได้หรือไม่ เช่น การโฆษณาขายห้องชุด การจัดสรรโครงการ ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ฝ่ายสื่อสารองค์กร บ.พฤกษา ชี้แจงเป็นเอกสารเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เกิดปัญหาเกี่ยวกับผู้บุกรุก ซึ่งบริษัทได้เร่งแก้ไข และติดตาม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมเสนอทางเลือกให้ผู้ซื้อ 2 แนวทาง คือให้ย้ายไปโครงการอื่นๆ ของบริษัท หรือขอคืนเงินที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ โดยจะได้รับเงินคืนภายใน 7 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่เกิดปัญหาร้องเรียนของโครงการของพฤกษา "พลัม พรีเมี่ยม คอนโด" พหลโยธิน 89 ยังก่อสร้างไม่ได้นั้น วันนี้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส โดยนายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ บ.พฤกษา เรียลเอสเตท เปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของจำนวนบริษัทที่เปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด โดยบริษัท พฤกษา มีโครงการอสังหาฯ จำนวน 17 โครงการ มูลค่าสูงสุดถึง 15,570 ล้านบาท รวมจำนวน 6,568 หน่วย หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 2.371 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 17% ของมูลค่าที่เปิดตัวทั้งหมดในช่วง 4 เดือนนี้