หลังจากทั่วโลกโดนมัลแวร์ ซึ่งเป็นไวรัสเรียกค่าไถ่ ชื่อ "WannaCry" โจมตีไปกว่า 150 ประเทศ มีเครื่องที่ได้รับผลกระทบกว่า 200,000 เครื่องทั่วโลก ซึ่งหากต้องการให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานข้อมูลได้ต้องจ่าย 300 เหรียญนั้น (ก.ดิจิทัลฯ ย้ำรับมือมัลแวร์อย่าเปิดอีเมลที่ไม่รู้จัก)
วันนี้ ( 15 พ.ค.2560 ) นายชัยชนะ มิตรพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ETDA) เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทยจนถึงช่วงใกล้เที่ยงวันนี้ พบว่าไวรัสเรียกค่าไถ่ได้โจมตีเครื่องคอมพิวเตอร์ในไทยแล้วกว่า 200 เครื่อง แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เป็นเครื่องของหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือผู้ใช้งานทั่วไป
เนื่องจากต้องรอผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ตรวจเช็คเลขหมายการใช้งาน IP Address ที่โดนโจมตีว่า หมายเลขไอพีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้นเป็นของผู้ให้บริการรายใด ซึ่ง ETDA มีศูนย์ประสานงานความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ (ThaiCERT) ภายใต้สังกัดและออกคำเตือน ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ตั้งแต่เมื่อวานให้คนไทยระวังไวรัสชนิดนี้
สำหรับการปล่อยไวรัสแพร่ระบาด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดสำหรับการคุกคามทางอินเทอร์เน็ตหรือไซเบอร์ ประเภทนี้มีความรุนแรงจากระดับความสามารถในการกระจายตัว เกิดได้จากพฤติกรรมของผู้ใช้งานดาวน์โหลดเว็บไซต์ไม่เหมาะสม คลิกอีเมล์ไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จักมาก่อนทำให้ติดไวรัสมาด้วย
นอกจากนี้ไวรัสเรียกค่าไถ่ชนิดนี้ยังมีความสามารถกระจายไวรัสได้ด้วยตัวเอง เพราะเครื่องอาจเกิดช่องโหว่ที่ระบบตัวเอง ซึ่งกรณีนี้บริษัทไมโคซอฟทราบช่องโหว่มา ตั้งแต่ มีนาคม 2560 และได้ประกาศปิดช่องแล้วด้วยการให้อัพเดทโปรแกรม แต่สำหรับคนที่ไม่รู้และไม่ได้ปิดทำให้มีความเสี่ยงติดไว้รัสชนิดนี้ได้
นายชัยชนะ ระบุว่า การป้องกันไม่ให้มัลแวร์ดังกล่าวเข้ามาอยู่ในคอมพิวเตอร์ คือ อัพเดทระบบปฏิบัติการของตัวเองให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด แต่หากติดไวรัสแล้วมีทางเลือกอีก 2 ทาง คือ ลืมข้อมูลนั้นไปหรือเลือกจะจ่ายเงินหากเห็นว่าเป็นข้อมูลสำคัญจริงๆ ให้มิจฉาชีพ ซึ่งหลายคนอาจบอกว่าอย่าไปจ่ายเงิน แต่ถ้าคิดมุมกลับว่า 300 เหรียญ มันแลกกับธุรกิจของเราที่มีมูลค่ามากกว่านั้นก็ต้องทำ ซึ่งเรื่องนี้แต่ละคนต้องตัดสินใจเอง
สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากไวรัสเรียกค่าไถ่ดังกล่าว คือ ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดว์ ซึ่งมีทั้งประเภทการใช้งานส่วนบุคคลและ ระบบเซิร์ฟเวอร์ แนะนำให้ตรวจสอบได้ที่เว็บไซด์ของไมโคซอฟหรือเสิร์ชคำว่า "MS17-010" เพื่ออัพเดทช่วยปิดช่องโหว่ของตัววินโดว์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือผู้ดูแลระบบของหน่วยงานต้องดำเนินการในเบื้องต้น คือการป้องกันไม่ให้มัลแวร์ดังกล่าวเข้ามาอยู่ในคอมพิวเตอร์ของเราด้วยการไม่เปิดไฟล์เอกสารแนบของอีเมลโดยไม่จำเป็น และควรตรวจสอบแหล่งที่มาของไฟล์ที่ถูกส่งเข้ามาในอีเมล หรือช่องทางต่าง ๆ ให้แน่ใจก่อนเปิดอ่าน และหากประชาชนพบปัญหาสามารถโทรแจ้งได้ที่เบอร์ 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง