วันนี้ (17 พ.ค.2560) นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพทุเรียนส่งออกจากไทยไปประเทศญี่ปุ่น อ้างพบทุเรียนอ่อนจำนวนมากจนทำให้ห้างสรรพสินค้าที่นำไปจำหน่ายถูกลูกค้าตำหนิและขอคืนเงิน ว่า กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบรหัสของผู้ส่งออกตามที่ปรากฏเป็นข่าวพบว่าเป็นสินค้าของบริษัทรายหนึ่ง จึงทำหนังสือแจ้งเตือนเพื่อให้บริษัทที่ส่งออกทุเรียนล็อตดังกล่าวปรับปรุงระบบการผลิตและการควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียน เป็นผู้ส่งผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2556 โดยควบคุมคุณภาพของผลทุเรียนสดตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องมาตรฐานทุเรียนของประเทศไทย พ.ศ.2545
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปฏิเสธสินค้าในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศไทยทั้งหมดในภาพรวม และมีผลต่อการพิจารณาพักใช้ หรือเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ขอให้บริษัทพิจารณาแก้ไขปรับปรุงระบบการผลิตทุเรียนสดให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนด พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวกลับมาให้กรมวิชาการเกษตรทราบด้วย
“กรณีที่ได้รับแจ้งจากผู้ซื้อทุเรียนสดจากห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น พบว่าเป็นทุเรียนแก่ที่ยังดิบอยู่ ต้องรอให้สุกก่อนโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 วันจึงจะรับประทานได้ ซึ่งต้องมีการสร้างการรับรู้วิธีการสังเกตลักษณะความสุกแก่ของทุเรียนให้แก่ผู้ประกอบการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยและผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น โดยวิธีการสังเกตที่ง่ายสุด คือหากทุเรียนสุกพร้อมที่จะรับประทานจะเริ่มมีกลิ่นออกมาจากผลของทุเรียน อย่างไรก็ตามเพื่อรักษาภาพลักษณ์การส่งออกผลไม้ของไทย ซึ่งไม่เฉพาะเพียงทุเรียน ขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเพิ่มความระมัดระวังในการคัดคุณภาพของสินค้าและปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัดด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า การส่งออกทุเรียนผลสดไปนอกราชอาณาจักร ผู้ส่งออกต้องยื่นคำขอและจดทะเบียนผู้ส่งออกกับกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร เพื่อขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืชแนบไปกับสินค้าก่อนส่งออก โดยเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตร จะทำการตรวจสอบศัตรูพืชทุเรียนที่โรงคัดบรรจุของผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับการรับรอง GMP ซึ่งเป็นสถานที่รับผลทุเรียนสดและคัดผลทุเรียน ทั้งนี้ในปี 2559 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนผลสดไปญี่ปุ่นปริมาณ 89,415 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวม 8,139,166 บาท ปี 2560 (เมษายน-พฤษภาคม) ปริมาณ 26,765 กิโลกรัม รวมมูลค่า 3,690,301 บาท