ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตั้ง "โรเบิร์ต มุลเลอร์" อดีตผอ. FBI สอบแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐ

ต่างประเทศ
18 พ.ค. 60
12:25
307
Logo Thai PBS
ตั้ง "โรเบิร์ต มุลเลอร์" อดีตผอ. FBI สอบแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐ
กระทรวงยุติธรรม ตั้ง "โรเบิร์ต มุลเลอร์" อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ ร่วมการสอบสวนกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลังจากสมาชิกสภาคองเกรส เรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระหรือบุคคลนอกรัฐบาลสอบการกระทำที่ไม่ชอบมาพากล

วานนี้ (17พ.ค.2560) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาแต่งตั้ง โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ หรือ เอฟบีไอ ขึ้นเป็นที่ปรึกษาพิเศษ เพื่อร่วมดูแลการสอบสวนกรณีที่รัสเซีย อาจจะสมรู้ร่วมคิดกับทีมหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ในการแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อเดือนพ.ย.2559  

การแต่งตั้งครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่มีการเปิดโปงข้อมูล โดยอ้างบันทึกของเจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอคนล่าสุดที่เพิ่งถูกทรัมพ์ สั่งปลดกลางอากาศไปหมาดๆ ว่าทรัมพ์เคยพยา ยามแทรกแซงการทำงานของเอฟบีไอ โดยขอให้โคมีย์ยุติการสอบสวนพลโทไมเคิล ฟลินท์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ

โรเบิร์ต มุลเลอร์ คนนี้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอมานาน 12 ปี ซึ่งเกินกว่ากำหนดวาระปกติที่ผู้อำนวยการเอฟบีไอจะอยู่ในตำแหน่ง 10 ปีเท่านั้น เพราะว่าโอบามาชื่นชมในความสามารถของเขาเป็นอย่างมาก โดยมุลเลอร์เข้ารับหน้าที่ก่อนเกิดเหตุการณ์ nine eleven หรือการโจมตีอาคารแฝดเวิล์ด เทรด เซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์กได้ไม่นานถือว่าเป็นผู้ที่นำองค์กรผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้

ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษที่มุลเลอร์ได้รับทำให้เขามีอำนาจครอบคลุมการสั่งดำเนินคดีในความผิดใดๆ ที่ค้นพบระหว่างการสอบสวน และยังสามารถสอบสวนกรณีใดๆ ก็ตามที่เชื่อมโยงกับคดีนี้ซึ่งอาจหมายรวมถึงการปลดโคมีย์แบบสายฟ้าฟาดด้วย

แน่นอนว่าการแต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษนับเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อประธานาธิบดีทรัมพ์ ซึ่งก็กำลังเผชิญกับเสียงเรียกร้องให้มีการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งอยู่แล้ว หลังจากสั่งปลดโคมีย์แบบกลางอากาศ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงความไม่ชอบมาพากล

นอกจากนี้การตั้งที่ปรึกษาพิเศษในครั้งยังนี้ ยังอาจถือเป็นการตอบรับเสียงเรียกร้องจากฝั่งเดโมแครตที่ต้องการให้แต่งตั้งคนนอกกระทรวงยุติธรรมหรือคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อสอบสวนกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะ


ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ จอห์น เคลลี่ ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังจากที่ปล่อยมุข แนะให้ทรัมพ์ "ลงดาบกับสื่อมวลชน" ในงานฉลองจบการศึกษาของหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งบรรดานักเรียนให้ของที่ระลึกกับทรัมพ์เป็นดาบเล่มที่เห็นในภาพ ซึ่งทรัมพ์เองก็ตอบรับเคลลี่แล้วก็หัวเราะออกมาเบาๆ หลังจากผ่านช่วงสัปดาห์ที่ถูกสื่อเล่นงานอย่างหนักในกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้น


ด้านสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครต ประกาศว่าจะเดินหน้าผลักดันให้มีการออกเสียงในสภา เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ สอบสวนกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งโดยรัสเซีย ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากสมาชิกบางส่วนให้ถอดถอนทรัมพ์ออกจากตำแหน่งเพราะเขาพยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

ในประเด็นการถอดถอนหรือดำเนินคดีกับทรัมพ์ นักวิชาการด้านกฎหมายชี้ว่าอาจจะเป็นไปได้ยาก ที่จะดำเนินคดีอาญากับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในตำแหน่ง แต่การขอให้โคมีย์ยุติการสอบสวนพลโทฟลินท์ ตามบันทึกที่โคมีย์ระบุไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อาจถือเป็นการกระทำที่ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และจะนำไปสู่การถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ ได้

ส่วนอีกด้านหนึ่งของกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เสนอที่จะส่งเอกสารบันทึกการสนทนาระหว่างทรัมพ์กับเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียให้แก่สภาคองเกรส เพื่อพิสูจน์ว่าทรัมพ์ไม่ได้เผยข้อมูลความลับใดๆ ให้แก่รัสเซีย หลังจากมีการเปิดเผยว่าทรัมพ์ปูดข้อมูลปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอสระหว่างการพูดคุยกับลาฟรอฟเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกรณีนี้นักการเมืองอเมริกันบางคนก็ออกมาบอกว่า คงยากที่จะเชื่อข้อมูลใดๆ ที่ปูตินเป็นฝ่ายเสนอให้แบบนี้อย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง