วันนี้(24 พ.ค.2560)ศาสตราจารย์สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมคณะวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบตะขาบชนิดใหม่ของโลกเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาบริเวณเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว เรียกว่า “ตะขาบน้ำตก” หรือ “ตะขาบว่ายน้ำ”
เนื่องจากจะหากินใกล้แหล่งน้ำตกและจับเหยื่อในน้ำกินเป็นอาหารซึ่งเป็นลักษณะทางพฤติกรรมและนิเวศวิทยาที่ทำให้ตะขาบชนิดใหมี้แยกจากตะขาบแดงใหญ่หรือตะขาบบ้านชัดเจน ที่สำคัญมีความแตกต่างทางพันธุกรรมชัดเจนเมื่อเทียบกับตะขาบ 7 ชนิด ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในไทย ลาว และเวียดนาม จะอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ลำธาร น้ำตก โดย “ตะขาบน้ำตก” ของไทยถูกขึ้นบัญชีเป็น 1 ใน 10 สปีชีส์ใหม่ของโลก 2017 จาก สถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิต (IISE)
ขณะที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายสัตวแพทย์ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร รองผู้อำนวยการสถาน เสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า จะพัฒนาต่อยอดพิษของ “ตะขาบน้ำตก” ร่วมกันเพื่อเปลี่ยนพิษของตะขาบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และการเกษตรในอนาคต เนื่องจากพิษของแต่ละชนิดมีความหลากหลายเชิงขององค์ประกอบทางชีวเคมีของน้ำพิษ ซึ่งเป็นการก้าวสู่การเป็นฐานธุรกิจชีวภาพ