วันนี้ (29 พ.ค.2560) นายเดชา นิลเชียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะ เชิงเทรา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ชุดแก้ไขปัญหาช้าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ได้ ร่วมกับอาสาสมัครกลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ซึ่งติดตาม และตรวจสอบช้าง จำนวน 30 ตัว บริเวณป่าเกาะกลาง อ่างเก็บน้ำประแกด ม.1 ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
นายเดชา บอกว่า จากการติดตาม ทำให้พบช้างพลายเต็มวัย 1 ตัว พบว่าขาหน้าข้างขวาไม่สามารถงอได้ในขณะเดิน และมีอาการบวมบริเวณเข่า และช้างสีดอใกล้วัยรุ่นมีอาการผิดปกติ เนื่องจากขณะเดินมีอาการอ้าปากคลายเหนื่อยหอบตลอดเวลา จึงจัด เจ้าหน้าที่ติดตามเพื่อประเมินอาการ ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในเฟชบุ๊กของนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีการเผยภาพช้างตัวหนึ่ง มีสภาพเป็นแผลที่ผิวหนังขนาดลึก ตั้งแต่บริเวณกลางลำตัวจนถึงขาหน้าข้างซ้าย
นายสัตวแพทย์ภัทรพล ให้สัมภาษณ์ว่า ช้างตัวนี้เป็นช้างเพศเมีย สันนิษฐานว่าอาการไหม้ที่ผิวหนัง เกิดจากการถูกกรดที่ใช้ในสวนยางพารา ซึ่งน่าจะมาจากความซุกซนของช้างเองที่ออกมาหากินตามสวนของเกษตรกร บาดแผลไหม้ที่ผิวหนังเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และภาพที่เห็นล่าสุดในเดือนพ.ค.นี้ หลังจากมีการรักษาโดยใช้ธรรมชาติบำบัด ด้วยการให้ดินโป่ง ผสมกับยา มาเกือบ 2 เดือนพบว่าอาการแผลดีขึ้น ผิวที่เห็นแดงๆเพราะเนื้อที่ตาย แต่ตอนนี้ยังคงติดตามอาการของช้างตัวนี้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กรณีของช้างที่ซุกซนจนเกิดกรดแผลพุพองไหม้ตัวนี้ถือว่ายังโชคดีที่ไม่โดนตา หรือเกิดการติดเชื้อจนลุกลาม และยังเป็นตัวที่บ่งชี้ว่าการที่ช้างออกมาหากินนอกเขตป่า และเข้าในชุมชน สวนผลไม้ พื้นที่การเกษตรยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับช้างได้
ขณะที่ นายเดชา ยินยันว่า บาดแผลไหม้ บนลำตัวช้าง เกิดจากน้ำกรดที่ใช้ในสวนยางพารา เข้าใจว่าช้างจะใช้งวงดึงขวดมาราด เพราะนึกว่าเป็นน้ำ ไม่ใช่จากการถูกสาดโดยคนแน่นอน ซึ่งหลังจากเจอช้างเจออุบัติเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงประชาสัมพันธ์เกษตรกร ที่เก็บขวดสารเคมีอันตรายทางการเกษตรให้มิดชิด เพราะช้างหรือสัตว์ป่าไม่สามารถแยกแยะได้ โดยอาการของช้างตัวนี้ดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีแผลแดงๆอยู่เพราะเห็นเดินนำหน้าในโขลงช้างแล้ว