วันนี้ (29 พ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เวลา 09:30น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีบริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้องร้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เมื่อปี 2559
คดีนี้ บริษัท ไทยทีวี ฟ้องว่าคณะกรรมการ กสทช. มีคำสั่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ช่อง “ไทยทีวี” และ “โลก้าทีวี” และสั่งให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทั้งหมดที่ชนะประมูลมา เมื่อปี 2556 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัทเห็นว่า บริษัทแจ้งขอยกเลิกประกอบกิจการ ก่อนที่ กสทช.จะออกคำสั่งแล้ว ดังนั้น คำสั่ง กสทช.จึงควรเป็นโมฆะ แต่เมื่อกสทช.ออกคำสั่งให้ชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุทำให้บริษัทได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
สำหรับคดีนี้ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ กสทช.ห้ามบังคับเอาหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์การันตี) จากธนาคารกรุงเทพ ที่บริษัท ไทยทีวี วางเป็นหลักประกันไว้เมื่อต้นปี 2557 จำนวน 16 ฉบับ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า แม้เลิกสัญญากันแล้ว แต่ผลผูกพันที่ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมงวดที่เหลือให้หมด ย่อมทำให้บริษัท ไทยทีวี เดือดร้อนหรือเสียหายยากแก่การเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง นอกจากนี้การที่ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ค้ำประกันให้บริษัท ยังไม่จ่ายเงินตามสัญญาค้ำประกันให้กับ กสทช. ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของ กสทช. หรือเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ
สำหรับไทยทีวี เป็นผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจที่ชนะประมูลทีวีดิจิทัล 2 ช่อง จากจำนวนที่กสทช.ให้ใบอนุญาต 24 ช่อง แต่หลังจากชนะประมูลเพียงหนึ่งปีเศษ บริษัทแจ้งยกเลิกของยุติประกอบกิจการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และหยุดออกอากาศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558
สำหรับ กสทช.เคยให้เหตุผลว่า แม้ภายหลังจะอนุมัติให้ยกเลิกใบอนุญาตฯ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องชำระเงินค่าประมูลต่อไป เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 ข้อ 10 โดยบริษัท ไทยทีวี จำกัด ต้องชำระเงินให้กับ กสทช. จนครบจำนวนตามงวด ทั้งในส่วนของช่อง “ไทยทีวี” ที่ประมูลไปในราคา 1,328 ล้านบาท ยังค้างชำระอยู่ 1,107 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ มีแบงก์การันตีจากธนาคารกรุงเทพไว้แล้ว และช่อง “โลก้าทีวี” ที่ประมูลไปในราคา 648 ล้านบาท ยังค้างชำระอยู่ 527 ล้านบาท
นอกจากคดีฟ้องห้ามยึดแบงก์การรันตีแล้ว ไทยทีวี ยังมีคดีที่บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กสทช. กว่า 700 ล้านบาท หลังจากไม่สามารถเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลทั้งระบบได้สำเร็จ ตามแผนงานที่กำหนดไว้
ขณะที่ผู้ประกอบการฟรีทีวีดิจิทัล อย่างน้อย 5 ช่อง ได้แก่ ไทยรัฐทีวี จีเอ็มเอ็มวัน จีเอ็มเอ็ม ชาแนล พีพีทีวี และไบรท์ทีวี ฟ้อง กสทช. อีกเกือบ 10,000 ล้านบาท ฐานจงใจละเมิด ละเว้นการทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลทั้งระบบ