ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชี้ปมรุนแรงวัยเด็ก-ขาดความรัก ตัวเร่งผลิต“อาชญากร”

สังคม
5 มิ.ย. 60
15:28
1,024
Logo Thai PBS
ชี้ปมรุนแรงวัยเด็ก-ขาดความรัก ตัวเร่งผลิต“อาชญากร”
กรมสุขภาพจิต ชี้ความรุนแรงจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กของครอบครัว เด็กถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้งจะสะสมความรุนแรง พอกพูนจนเป็นวิถีชีวิต และกลายเป็นอาชญากรได้ในที่สุด แนะนำผู้ก่ออาชญกรรม เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยกับจิตแพทย์

วันนี้ (5มิ.ย.2560) นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความรุน แรงในสังคมปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากการควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือการทะเลาะวิวาทบนท้องถนน สิ่งเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเครียด และการเลี้ยงดูที่เป็นองค์ประกอบสำคัญว่า จะควบคุมความรุนแรงของตนเองได้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น มีการวางแผน มีการจงใจ ไตร่ตรองมาอย่างดี ด้วยวัตถุประสงค์ เช่น กระทำผิดกฎหมาย ปกปิดความผิด ขัดแย้งกันในเชิงผลประโยชน์ อำพรางคดี ถือเป็นเรื่องของอาชญากรรม

อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า คำถามที่มักพบบ่อยว่า ผู้ก่ออาชญากรรมด้วยวิธีแปลกๆ มีอาการทางจิตหรือไม่นั้น หากทีมสอบสวนประเมินแล้วว่า อาจมีพฤติกรรมทางจิต ก็จะส่งเข้าสู่กระ บวนการวินิจฉัย ให้จิตแพทย์ช่วยประเมิน ตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อนลงความเห็น พร้อมส่งตัวรักษาตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อคดีไม่จำเป็นต้องป่วยทางจิต หรือจิตผิดปกติเสมอไปและพบได้น้อยมาก เพราะหากเป็นผู้ป่วยทางจิต จะไม่มีกระบวนการความคิดที่ซับซ้อน และจะหลุดจากโลกของความเป็นจริง นอกจากนี้ สังคมได้เป็นห่วง และมีการตั้งคำถามถึงผลกระทบจากการเสพสื่อความรุนแรง รวมทั้งแนวทางป้องกันหรือเลี้ยงดูลูกอย่างไรไม่ให้เป็นอาชญากร

ทั้งนี้ ในส่วนของสื่อจะส่งผลกระทบมากกับกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบางด้านจิตใจอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเด็กที่เติบโตมาในวัฒนธรรมหรือสภาวะสังคมที่มีความรุนแรงสูง ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง หรือเด็กถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำความรุนแรงโดยตรง เกิดเป็นความเครียดสะสมในจิตใจ กลายเป็นวิถีในการแก้ปัญหา การเห็นสื่อความรุนแรงบ่อยๆ ทั้งในชีวิตครอบครัวและสังคม ในสื่อกระแสหลัก สื่อโซเชี่ยล หรือเกมออนไลน์ และออฟไลน์ ที่มีแต่ความก้าวร้าว เต็มไปด้วยเรื่องของการฆ่า การทำลายล้างกัน ย่อมทำให้เด็กเกิดความกระด้างชาชิน ต่อความสูญเสียและความเจ็บปวด บางครั้งมองเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า หรือภาพที่เลวร้ายในสื่อ เป็นตัวชี้นำการแสดงออกความเก็บกดทางอารมณ์ที่ผิดๆ ย่อมทำให้เด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ มีพื้นฐานเติบโตขึ้นด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะเห็นว่าเป็นแบบอย่าง

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต บอกว่า การใช้ความรุนแรงที่มาจากอารมณ์และความเครียด จะต่างกับความรุนแรงที่เป็นอาชญากรรม ซึ่งทำด้วยความจงใจ และไตร่ตรองเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง นอกจากนี้ ในแง่ของการเลี้ยงดู ได้มีการ ศึกษา พบว่า ความรุนแรงจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยและวัยเรียน ที่เติบโตมาในลักษณะขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว เด็กถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง จะทำให้เด็กสะสมความรุนแรงและแสดงออกกับสิ่งของ สัตว์เลี้ยง และเพื่อน โดยไม่รู้สึกผิด และพอกพูนจนเป็นวิถีชีวิต เข้าสู่กระบวนการของความรุนแรง กลายเป็นอาชญากรได้ในที่สุด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง