นายรุ่งกิจ ทศานนท์ (ดิว) หนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก และคลุกคลีกับวงการเกมมากว่า 20 ปี บอกว่า พัฒนาการของเกมส์ในที่ผ่านมา เกมลักษณะต่อสู้กันมีมานานหลายสิบปีแล้ว การเลียนแบบความรุนแรงหรือการติดเกมอาจเป็นเรื่องเฉพาะปัจเจกบุคคล และหากมองในอีกมุมอาจเห็นด้านดีของเกมได้เช่นกัน เช่นการวางแผนอย่างเป็นระบบ และการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นต้น (ตะลึง!! พบเด็กติดเกมพุ่ง 1.5 เท่า อายุลดต่ำเหลือแค่ 5 ขวบ)
นายรุ่งกิจ ยอมรับว่า เกมมักทำให้เด็กติด เพราะถูกออกแบบมาให้เล่นแล้วเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นไปตามจุดประสงค์ของผู้ผลิต แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองคือ หากเยาวชนยังสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งการเข้าสังคมในชีวิตจริง การเรียน ครอบครัวและการเล่นเกม มองว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา
สอดคล้องกับ ผศ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เด็กติดเกมเกิดจากหลายปัจจัย และเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ที่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นเด็กคนนั้นขาดการเอาใจใส่จากคนในครอบครัว ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจึงต้องเริ่มจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่อาจต้องเข้ามามีบทบาทและใช้เวลาร่วมกับลูกมากขึ้น เช่นชวนไปเที่ยวนอกบ้านหรือหากิจกรรมอื่นๆ ทำร่วมกัน โดยอาจค่อยๆ เพิ่มเวลาไปทีละนิด
กรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการสำรวจดูว่าบุตรหลาน กำลังเสี่ยงติดเกมหรือไม่ ด้วยการสังเกตพฤติกรรมว่าเริ่มใช้เวลากับเกมมากขึ้นหรือเล่นเกมเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันหรือไม่ มีพฤติกรรมไม่อยากไปโรงเรียน รวมถึงเถียงพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อห้ามปรามหรือไม่ หากมีพฤติกรรมดังกล่าวอาจถือว่ามีความเสี่ยง โดยทางออกในเบื้องต้น แนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองโทรปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323