ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ความรุนแรงในครอบครัว” ต้นตอฆาตกร - ปัญหาใหญ่ที่ต้องทบทวน

อาชญากรรม
6 มิ.ย. 60
20:13
1,841
Logo Thai PBS
“ความรุนแรงในครอบครัว” ต้นตอฆาตกร - ปัญหาใหญ่ที่ต้องทบทวน
คนทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม เผย การที่คนคนหนึ่งจะใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาต่างอยู่ในสภาพที่ใช้ความรุนแรงมาก่อน ถ้าสังคมเรียกร้องการลงโทษที่รุนแรง อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง

วันนี้ (6 มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อปี 2557 เกิดคดีสะเทือนขัวญคนไทยทั้งประเทศ เมื่อนายเกม พนักงานการรถไฟ ก่อเหตุฆ่าข่มขืนผู้โดยสาร ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องว่าข่มขื่นต้องมีโทษประหารชีวิต

ขณะที่คำรับสารภาพของหมูหยอง ผู้ต้องหาฆ่าชิงทรัพย์ ชาวจังหวัดชัยภูมิ ที่ยอมรับว่า "ฆ่าคนไม่ต่างจากฆ่ามดฆ่าปลา" เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามว่าจะได้รับโทษสูงสุดหรือไม่

ล่าสุดคดีฆ่าหั่นศพพนักงานสถานบันเทิงในจังหวัดขอนแก่น ที่ น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือ เปรี้ยว เป็นผู้ลงมือหั่นศพเอง ก็ถูกจับตาเช่นกัน แม้ทั้ง 3 เหตุการณ์จะถูกสังคมตัดสินไปแล้วว่าเป็นฆาตกร

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก วิเคราะห์ว่าที่ทั้ง 3 คน ตัดสินใจใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเหมือนกัน เพราะเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งกาย-ใจ จากครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก เป็นภาพจดจำจนกลายเป็นระเบิดเวลา ทำให้เมื่อโกรธหาทางออกไม่ได้ ทุกคนจึงตัดสินใจฆ่าคนโดยที่ไม่กลัวกฎหมาย

“เวลาเด็ก 1 คน ที่ผ่านเรื่องความรุนแรงทั้งในระดับประจักษ์พยาน และในระดับที่ถูกกระทำโดยตรง เด็กเหล่านี้เขาจะไม่นึกถึงกฎหมาย เขานึกไม่ทัน เขาไม่เข้าใจ ไปไม่ถึงว่าโทษประหารชีวิตนะ ติดคุกตลอดชีวิตนะ เรื่องพวกนี้มันมาทีหลัง แต่เรื่องที่มาก่อนเลยและบังคับให้เขาตัดสินใจ ก็คือภาพจำความรุนแรงที่เขาได้เห็นมากกว่า ไม่ใช่กฎหมายที่ประเทศนี้เขียนเอาไว้” นางทิชา กล่าว

 

 

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยอมรับว่าสังคมไทยนิยมใช้ศาลเตี้ยในการพิพากษาคนอื่น เช่นเดียวกับกรณีของเปรี้ยว ไม่ได้มองว่าเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และต้องการให้สังคมกลับไปทบทวนโครงสร้างครอบครัว ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาดังกล่าวด้วย

“สังคมไทยเดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยเหมือนเดิม คือคนนิยมใช้ความรุนแรงมากขึ้น และมีความอดทนต่ำหงุดหงิดง่าย มีความสุขอยู่ในโลกปัจจุบัน ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องอนาคตสักเท่าไหร่ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่คล้ายๆกันหมด ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ถ้าดูในเชิงระบบ อาจจะต้องกลับไปทบทวนว่ากระบวนการดูแลเด็กของคนในชาติของเรา ต้องทำอย่างไร” นายธวัชชัย กล่าว

นางทิชา ย้ำว่า หากรัฐบาลไม่ดูแลกลุ่มเปราะบาง ด้วยการจัดหาเจ้าหน้าที่หรือสนับสนุนงบประมาณเข้ามาดูแลอย่างเต็มที่ เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกหล่อหลอมเป็นฆาตกรได้ง่าย

“ถ้าเราไม่อยากให้เกิดหมูหยอง 2 เปรี้ยว 2 หรือแม้แต่เกมอีก เราต้องทบทวนกันอย่างเป็นระบบว่าเราจะใช้พลัง ใช้ความคิด ใช้วิสัยทัศน์ของประเทศดูแลครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้เขารับมือเองตามยถากรรม” นางทิชา กล่าว

แม้ขณะนี้สังคมจะเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิต แต่อาจไม่ช่วยลดอาชญากรลงได้ เพราะความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง