ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สำรวจเส้นทางจราจรก่อนย้ายสถานีขนส่งหมอชิต

สังคม
9 มิ.ย. 60
10:56
9,746
Logo Thai PBS
สำรวจเส้นทางจราจรก่อนย้ายสถานีขนส่งหมอชิต
ทันทีที่กระทรวงคมนาคมตัดสินใจที่จะย้ายสถานีขนส่งหมอชิตกลับมาที่เดิมเกิดคำถามตามมาว่า การย้ายสถานีขนส่งจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรตามมาหรือไม่ ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางจราจรในปัจจุบัน และเส้นทางที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ

สภาพการจราจรบนถนนพหลโยธิน ขาเข้าหน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีหมอชิต แม้จะมีถึง 5 ช่องทางจราจร แต่มีเพียง 1 ช่องทางใช้เป็นที่กลับรถมุ่งหน้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่องทางที่รถโดยสารสายยาวที่ย้ายมายังสถานีขนส่งแห่งนี้ ใช้เป็นเส้นทางในการกลับรถ ซึ่งปัจจุบันก็มีสภาพการจราจรค่อนข้างหนาแน่น

นอกจากนี้บริเวณหน้าสถานีหมอชิต ยังพบรถส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง รถจักรยานยนต์รับจ้าง จอดรับส่งผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อให้บริการผู้ที่มาใช้รถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอสอย่างหนาแน่น ซึ่งหากมีการย้ายสถานีขนส่งกลับมาที่นี่ เท่ากับว่าจะมีรถโดยสารขนาดใหญ่กว่า 2,000 คันเข้ามาเติมความแออัดของการจราจรบริเวณนี้ และยังมีผู้โดยสารที่คาดว่าจะมาใช้บริการอีกวันละมากกว่า 40,000 คน ในช่วงวันปกติ หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า การย้ายสถานีขนส่งมาที่แห่งใหม่ จะพร้อมรองรับผู้โดยสารหรือไม่

ร.ต.ท.ชัชชัย ดีมงคล รองสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ พื้นที่ตั้งสถานีขนส่งหมอชิต ระบุว่า โดยปกติถนนพหลโยธิน บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสจะไม่ติดขัดมาก แต่หากมีการย้ายสถานีขนส่งมาที่นี่อาจกระทบการจราจร เช่นเดียวกันกับผู้โดยสารคนนี้ที่เคยใช้บริการ สถานีขนส่งหมอชิต 1 ในช่วงก่อนย้ายไป และปัจจุบันยังคงใช้บริการสถานีหมอชิต 2 บอกว่า สถานีขนส่งหมอชิตที่ใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสมีความแออัด หากย้ายกลับมาอีก อาจมีปัญหาเช่นเดิมเพราะปัจจุบันปริมาณรถมีเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่คนขับรถโดยสารประจำทาง คนนี้ บอกว่า การเปลี่ยนสถานที่อาจทำให้ผู้โดยสารลดน้อยลง เพราะทุกวันนี้มีทางเลือกการเดินทางมากขึ้น เช่นรถตู้ ที่มาให้บริการที่เดียวกัน หากย้ายไปสถานีขนส่งที่เดิมรถจะมีติดขัดมากขึ้น แม้ในอนาคต หากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแล้วเสร็จ สถานีหมอชิตจะไม่ใช่สถานีปลายทาง ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสาร และความหนาแน่นของสภาพจราจรน้อยลง แต่ยังมีคำถามตามมาว่า พื้นผิวจราจรที่จะรองรับปริมาณรถ และพื้นที่สถานีขนส่งทั้งหมด 1.1 แสนตารางเมตร จะเพียงพอกับการจอด-รับส่งผู้โดยสารหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง