ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ตรวจสอบประสิทธิภาพของเสาไฟฟ้าโซลาเซลล์ ที่ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่มีการติดตั้งเสาไฟฟ้าในยามค่ำคืน ในพื้นที่ ต.พร่อน อ.เมืองจังหวัดยะลา ซึ่งพบว่าเสาไฟฟ้าโซลาเซลล์ ที่ติดตั้งบริเวนทางเข้าศูนย์วิทยพัฒนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราชยะลา เกือบ 20 ต้น ส่วนใหญ่ใช้การไม่ได้บางต้นที่ให้แสงสว่างก็อยู่ในลักษณะติด ๆ ดับ ๆ
นายสมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยากรคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่า ในการติดตั้งเสาไฟฟ้าโซลาเซลล์ แบ่งอุปกรณ์ออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ แผงโซลาเซลล์ ส่วนที่ 2 เป็นแบตเตอรี่และอุปกรณ์ควบคุมการชาร์จและจ่ายไฟรวมถึงหลอดไฟและส่วนสุดท้ายเป็นเสาเหล็กและฐานราก โดยราคาแผงโซลาเซลล์ กำลังผลิตไฟฟ้า 120 วัตต์ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับแผงโซลาเซลล์ของ ศอ.บต.
นายสนพร ระบุว่าหากจัดซื้อในปี 2557 จะมีราคาราว 4,800 บาท แต่หากจัดซื้อในปี 2559 ราคาจะถูกลงอีก เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ซึ่งมีราคาราว 6,000 บาท ส่วนเสาไฟและฐานราก เมื่อรวมความเสี่ยงในการติดตั้งอาจมีราคาราว 20,000 บาทต่อต้น ซึ่งเมื่อรวมต้นทุนทั้งหมดจะตกอยู่ประมาน 40,000 บาทต่อต้น ในขณะที่ทาง ศอ.บต.จัดซื้อจัดจ้างต้นละราว 67,000 บาท จึงมีส่วนต่างมากกว่า 20,000 บาทต่อต้น โดยทั้งโครงการมีจำนวน 14,800 ต้น จึงอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์เป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
ในขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนระบุว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายโครงการทั้งในส่วนของฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพลเรือน ซึ่งมีการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการเสาไฟฟ้าโซลาเซลล์ ล์ จึงอยากเรียกร้องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจากส่วนกลางลงพื้นที่มาตรวจสอบด้วยตัวเอง
นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทั้งนักวิชาการและภาคประชาชน มีความเห็นตรงกันว่า โครงการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ ล์ ถือว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ยังมีช่องว่างในการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องความไม่โปร่งใส จึงเรียกร้องให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันตรวจสอบโครงการนี้ในทุกมิติ