เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.2560) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การบินไทยขอชี้แจงเพิ่มเติมกรณีการตัดสินใจไม่เพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบและครบถ้วนทุกด้าน โดยในฐานะที่บริษัทฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการลงทุนใดๆ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และการที่บริษัทฯ เป็นรัฐวิสาหกิจต้องทำด้วยความรับผิดชอบต่อทุนของบริษัทฯ ที่มาจากงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะไม่เพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ แต่บริษัทฯ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและสามารถให้ความร่วมมือกับสายการบินนกแอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้สายการบินนกแอร์ดำเนินการได้ดีที่สุดในอนาคต
ด้านนกแอร์จะมีการประชุมบอร์ดในวันนี้ (15 มิ.ย.) เพื่อพิจารณาการเพิ่มทุนใหม่รอบ 2 หลังจากการเพิ่มทุนรอบแรกที่ขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำหน่ายไม่หมด โดยการเพิ่มทุนใหม่รอบนี้จะเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) แต่จะเพิ่มทุนจำนวนเท่าไรต้องรอมติจากที่ประชุม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ยืนยันว่าพันธมิตรที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะเป็นกลุ่มทุนจากจีน เช่น กลุ่มเหอหนาน ซึ่งเป็นเจ้าของสนามบินในจีนตอนใต้ 14 แห่ง และมีหุ้นในสายการบินต่างๆ หรือจะเป็นกลุ่มทุนสิงคโปร์อย่างกลุ่มสกู๊ต ซึ่งเป็นพันธมิตรกับนกแอร์อยู่แล้ว
ทั้งนี้ การที่การบินไทยไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่นกแอร์ 3 อันดับแรกเปลี่ยนไป หลังการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด โดยการสละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทย ทำให้กลุ่มจุฬางกูร ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วนร้อยละ 28.93 ของทุนจดทะเบียน แซงการบินไทยที่กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 21.57 ของทุนจดทะเบียน แต่เหตุผลที่การบินไทยไม่ตัดสินใจซื้อหุ้นตามสิทธิ นอกจากจะเป็นประเด็นสถานะการเงินของบริษัทการบินไทยแล้ว ยังอยู่ที่นกแอร์ที่ซ่อนปัญหาเอาไว้
หากย้อนดูผลการดำเนินงานปี 2559 ของนกแอร์ ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีตัวเลขการขาดทุนถึง 2,795 ล้านบาท จากรายได้ที่ลดลงเหลือเพียง 13,119 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้จากค่าโดยสารที่ลดลง ตามการปรับลดเที่ยวบินภายในประเทศ และต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายฝูงบิน ค่าซ่อมเครื่องบิน และยังต้องแบกรับภาระการขาดทุนของนกสกู๊ตที่เป็นบริษัทลูกที่ปีนี้ตัวเลขการขาดทุน 612 ล้านบาท จากปีก่อนหน้านี้ที่ขาดทุน 1,223 ล้านบาท โดยนกแอร์ขาดทุนติดต่อกันเป็นปีที่ 3 จากปี 2558 ขาดทุน 726 ล้านบาท และปี 2557 ขาดทุน 472 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ในปี 2556 ที่เคยมีกำไรกว่า 1,066 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่สวนทางกับผลประกอบการของสายการบินคู่แข่งทั้งไทยแอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งล้วนมีกำไรที่สวยงาม