ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดรหัสสตาร์ตอัพอิสราเอลกับเอกอัครราชทูต "ชีมอน โรเด็ด": "สำคัญที่สมองและหัวใจ"

เศรษฐกิจ
17 มิ.ย. 60
10:00
702
Logo Thai PBS
ถอดรหัสสตาร์ตอัพอิสราเอลกับเอกอัครราชทูต "ชีมอน โรเด็ด":  "สำคัญที่สมองและหัวใจ"
นิสัยรักการแก้ปัญหาอยู่ในดีเอ็นเอของคนอิสราเอลและเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เรียกว่า "สตาร์ตอัพ" จนได้รับฉายาว่าเป็น "Startup Nation" อิสราเอลมีธุรกิจสตาร์ตอัพอยู่ถึงกว่า 5,000 ราย นับว่าเป็นประเทศที่มีสตาร์ตอัพมากที่สุดต่อจำนวนประชากร

"สตาร์ตอัพ" หรือ "วิสาหกิจเริ่มต้น" เป็นกิจการที่เกิดจากความคิดเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหรือเพื่อถมช่องว่างทางธุรกิจที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อนโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

แม้ว่า "สตาร์ตอัพ" จะเริ่มกลายเป็นคำคุ้นหูของคนไทย แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าทำไมเมื่อพูดถึงสตาร์ตอัพต้องพูดถึงอิสราเอล

อิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ ในตะวันออกกลางที่เต็มไปด้วยทะเลทรายและไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่ความจำเป็นที่ต้องอยู่รอดท่ามกลางข้อจำกัด กลับเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวอิสราเอล ซึ่งมีอยู่ 8.3 ล้านคน ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อก้าวข้ามอุปสรรค

นายชีมอน โรเด็ด เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ณัฏฐา โกมลวาทิน" ในรายการ มีนัดกับณัฏฐา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่าด้วย "สตาร์ตอัพ" ที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจอย่างมาก นับเป็นการให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายก่อนที่ท่านจะหมดวาระในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้

  • อะไรเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้อิสราเอลได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของสตาร์ตอัพ

ผมคิดว่ามีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งปัจจัยด้านวัฒนธรรม ระบบนิเวศ การสนับสนุนของรัฐบาล และสภาพสังคมที่มีปัญหาให้ต้องแก้ไข ถ้าจะให้พูดถึงความสำเร็จของอิสราเอล ผมพูดได้เลยว่ามันเกิดจากความจำเป็น มีคำกล่าวว่า "ความจำเป็นคือบ่อเกิดของการประดิษฐ์คิดค้น" อิสราเอลมีทรัพยากรจำกัด เราต้องแก้ไขปัญหาที่ไม่มีใครแก้ให้เราได้ แล้วเราก็พบทางแก้ของเราเอง นี่คือจุดกำเนิดของธุรกิจสตาร์ตอัพในอิสราเอล บวกกับนิสัยชอบตั้งคำถาม คิดนอกกรอบ ชอบค้นคว้า รักการอ่าน การเรียนรู้และการสนับสนุนจากรัฐบาล อิสราเอลมีเรื่องราวเฉพาะตัว ทางออกและวิธีการแก้ปัญหาของเราเกิดจากเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป เมื่อมีไม่มีหนทางอื่น เราก็เลยต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง อีกสิ่งหนึ่งคือนิสัยกล้าเสี่ยงและยอมรับความล้มเหลว ในสังคมของเรา ถ้าคุณตั้งใจทำอะไรแล้วไปไม่รอด คุณจะไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนล้มเหลว แต่หมายความว่าคุณได้รับบทเรียน ได้ทบทวนว่าทำอะไรผิดไปและทำไมถึงผิด จากนั้นก็พยายามทำอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ทำให้คนอิสราเอลเป็นผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่ฟื้นตัวเร็ว มีประสบการณ์สูงและพึ่งพาตัวเองได้ นี่คืออิสราเอล 

  • รัฐบาลอิสราเอลทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ

รัฐบาลของเราเข้าใจดีว่าสตาร์ตอัพเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องลดความเสี่ยงให้นักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในสตาร์ตอัพด้วยการตั้งกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่ง เพื่อร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพ อย่างเช่น เมื่อมีแหล่งทุนตัดสินใจลงทุนในสตาร์ตอัพ รัฐบาลจะร่วมลงขันด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้แหล่งทุนไม่รู้สึกว่าต้องเสี่ยงเกินไปนักและทำให้พวกเขาตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพของอิสราเอล นอกจากนี้รัฐบาลยังช่วยคัดเลือกสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จสูง เพื่อประกอบการตัดสินใจของแหล่งทุนด้วย

 

เทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอลที่ได้ชื่อว่ามีระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอลที่ได้ชื่อว่ามีระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอลที่ได้ชื่อว่ามีระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

  • ช่วยเล่าถึง "ยอซมา" (Yozma) ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลอิสราเอลในการสนับสนุนสตาร์ตอัพให้ฟังหน่อยค่ะ ว่ากองทุนนี้ทำงานอย่างไร

ยอซมาเป็นกองทุนที่รัฐบาลตั้งขึ้นกองทุนแรกเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพและกระตุ้นให้บริษัทใหญ่ๆ มาลงทุนในสตาร์ตอัพด้วย เมื่อสตาร์ตอัพที่เราลงทุนไปเติบโตและมีรายได้มากขึ้น ก็มีเงินไหลเข้าสู่กองทุนยอซมามาก
ขึ้นด้วย ซึ่งเป็นหลักการของการทำธุรกิจทั่วๆ ไป  

  • สัดส่วนของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จกับสตาร์ทอัพที่ล้มเหลวเป็นอย่างไร

ในอิสราเอล สัดส่วนของสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ คือ 1 ต่อ 10 กล่าวคือ สตาร์ตอัพ 10 แห่งจะมีที่ประสบความสำเร็จ 1 แห่ง ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับในประเทศอื่นๆ ที่สัดส่วนความสำเร็จอยู่ที่ 1 ต่อ 20 หรือ 1 ต่อ 100 การที่อิสราเอลมีสัดส่วนสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จสูงกว่าประเทศอื่นก็เพราะเรามีระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่ดีตามที่กล่าวไปบ้างแล้ว เช่น การที่รัฐบาลมีหน่วยช่วยคัดเลือกสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพสูง มีพื้นที่สำหรับบ่มเพาะสตาร์ตอัพให้เติบโต มีที่ปรึกษา และมีกองทุนสนับสนุนให้บริษัทใหญ่ๆ มาลงทุนในสตาร์ตอัพของเรา 

ในสังคมอิสราเอล ถ้าคุณตั้งใจทำอะไรแล้วไปไม่รอด คุณจะไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนล้มเหลว แต่หมายความว่าคุณได้รับบทเรียน ได้ทบทวนว่าทำอะไรผิดไปและทำไมถึงผิด จากนั้นก็พยายามทำอีกครั้ง
  • ตอนนี้สตาร์ตอัพกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่น อินเดีย ที่กำลังมาแรงอยู่เหมือนกัน ท่านทูตมองว่าอิสราเอลกำลังมีคู่แข่งหรือไม่

แน่นอนว่าอิสราเอลไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่คิดค้นนวัตกรรม ทุ่มเงินค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดในอนาคต แต่อิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ เล็กกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก เราจึงต้องร่วมมือกับประเทศอื่น ตอนนี้มีการร่วมมือกันทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนอิสราเอลกับอินเดีย และอิสราเอลกับจีน ซึ่งมาซื้อเทคโนโลยีของเรา และทุ่มเงินด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก ทำให้เรากลายเป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสราเอลเชี่ยวชาญมาก และถือว่าเป็นจุดแข็งของเรา เราจึงไม่คิดจะแข่งขันกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน อินเดีย หรือสหรัฐอเมริกา แต่เรามีจุดแข็งของเราและมุ่งพัฒนาจุดแข็งนั้น 

  • อิสราเอลตั้งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นซีเรีย เลบานอน หรืออิรัก แต่ทำไมผู้คนยังมีความสามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีได้

จริงๆ แล้วการทหารมีส่วนที่ทำให้เราเก่งด้านนี้ เพราะพลเรือนอิสราเอลทุกคนจะต้องผ่านการฝึกทหาร ซึ่งในช่วงเวลา 3-4 ปีนั้นพวกเขาจะได้เรียนรู้และฝึกการใช้เทคโนโลยีแทบทุกชนิดที่จำเป็น ซึ่งเมื่อครบกำหนดฝึกและออกมาใช้ชีวิตพลเรือน หลายคนก็นำความรู้นั้นติดตัวมาด้วยและเอามาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจหลายอย่าง อิสราเอลอยู่กับความขัดแย้งมาตลอดนับตั้งแต่วันแรกของการสร้างประเทศ เราภูมิใจมากที่เราก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และพัฒนาประเทศให้ทันสมัยได้ 

 

 

  • รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีทั้งการสนับสนุนสตาร์ตอัพและนวัตกรรม เราจะเรียนรู้อะไรจากอิสราเอลได้บ้าง

ก่อนอื่นคุณจะต้องค้นหาแนวทางของตัวเองก่อน คุณต้องรู้ว่าอะไรที่เหมาะกับวิธีคิดแบบไทย วัฒนธรรมไทย แล้วนำประสบการณ์จากที่อื่นมาปรับใช้ ในส่วนของรัฐบาลก็สามารถสร้างตาข่ายนิรภัยสำหรับนักลงทุน เตรียมความพร้อมทางกายภาพ เช่น พื้นที่ทำงาน ห้องทดลอง และพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อสร้างวิศวกรเพื่อมารองรับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งสอนให้คนรู้จักยอมรับความล้มเหลวและกล้าเสี่ยง ถ้าคุณล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ลุกขึ้นแล้วลองใหม่ ซี่งการเปลี่ยนความคิดของคนไม่ใช่เรื่องง่าย ในบางสังคม คนที่ทำธุรกิจแล้วไปไม่รอดจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนล้มเหลว เราต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการหรือนักประดิษฐ์ ที่เริ่มต้นทำอะไรสักอย่างแล้วล้มเหลว คุณต้องเรียนรู้จากมันและเดินหน้าต่อไป การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะกับสตาร์ตอัพนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นสวนอุตสาหกรรมหรือการให้เงินทุนสนับสนุน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่สมองและหัวใจของคุณ

ติดตามชมย้อนหลังรายการมีนัดกับณัฏฐา ตอน นัดนี้กับสตาร์ตอัพ : ไขความลับธุรกิจยุคใหม่ จากอิสราเอลถึงไทย https://youtu.be/hzlCInwwcFA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง