ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การตลาดเรียกยอด "ไลค์"

ศิลปะ-บันเทิง
20 มิ.ย. 60
13:24
357
Logo Thai PBS
การตลาดเรียกยอด "ไลค์"
ในยุคที่ใครๆ ก็โหยหายอดวิว ยอดแชร์ ยิ่งพุ่งสูงยิ่งถูกพูดถึง ทุกธุรกิจก็หาทุกกลยุทธ์ทำแต้ม โดยมีไม้เด็ดคือคลิปไวรัลที่ส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่การนำโฆษณาประเภทนี้มาใช้เพื่อรณรงค์ทางสังคมก็อาจถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม

เกิดกระแสในโซเชียลที่ทำให้ชื่อ "มีนา โชติคำ" วินมอเตอร์ไซค์หนุ่มชาวอีสาน กลายเป็นที่สนใจและถูกพูดถึงกันพักใหญ่ เรียกยอดวิวสูงกว่า 2 ล้านครั้ง และแชร์นับแสน ภายหลังกลับกลายเป็นตัวละครสมมติ สำหรับโฆษณาการตลาดทั่วไปดูจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่นี่คือแคมเปญเรื่องศูนย์การเรียนรู้ ที่นำไปเชื่อมโยงกับ Change.org เว็บไซต์รณรงค์ประเด็นทางสังคม ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการใช้โฆษณาและเรื่องสมมติเพื่อเรียกยอดไลค์และชวนให้ร่วมลงรายชื่อ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เพราะปัจจุบันในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญทางธุรกิจ รายได้ขึ้นอยู่กับยอดคลิกเป็นสำคัญ

ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ กล่าวว่า คือไวรัลแน่นอนว่าต้องมีการซ่อนประเด็นที่หมิ่นเหม่ หรือสิ่งที่จะทำให้เกิดประเด็นที่เป็นกระแส ซึ่งกระแสถามว่าดีไหม ก็คาดเดายาก บางทีอาจบวกหรือลบ ในการทำแบรนด์ดิ้งให้คนเชื่อด้วยใจจริงจะดีกว่า

ธชย ประทุมวรรณ ศิลปิน กล่าวว่า มันคือคลิปวิดีโอต้องมองให้ออกว่ากำลังเสพอะไร คนทำอาจใช้การเปลี่ยนรายละเอียดใหม่ แล้วบอกว่าเป็นความตั้งใจที่เกิดขึ้นแบบนี้

"มีความสุขทุกนาที อารมณ์ดีอิฐมวลเบา" "ตกหลุมรักเธอทุกวัน กลบหลุมฝังเช่ารถแบล็กโฮล" สโลแกนเก๋ๆ ที่โยงกับวัสดุก่อสร้างอย่างอารมณ์ขันของ "เจ้จู" สาวใหญ่เจ้าของร้านวัสดุก่อสร้างถูกใจจนมีผู้ติดตามเพจนับแสน แต่ก็กลายเป็นเน็ตไอดอลที่ไม่มีตัวตนไปอีกคน เมื่อบริษัทซอฟท์แวร์วงการก่อสร้างออกมาเฉลยว่าทั้งหมดเป็นเพียงโฆษณา ยังมีคลิปอีกนับไม่ถ้วนที่ใช้ลูกเล่นต่างกันไปเพื่อสะสมยอดไลค์ ยอดวิว เช่น การใช้คนดังสร้างเรื่องเสมือนคลิปหลุด แม้โฆษณาเหล่านี้ถูกนำเสนอหลายรูปแบบ แต่ท้ายสุดการตลาดเรียกกระแสที่เต็มพื้นที่ออนไลน์ ก็เป็นความยากของนักโฆษณาที่ต้องคิดให้มากกว่าเดิม ขณะที่ผู้รับสารต้องรู้ทันและคิดก่อนแชร์

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรและผู้เชี่ยวชาญด้านไอที-โซเชียลมีเดีย กล่าวว่า สังคมถูกโบยตีด้วยความเท็จและเข็ดกับสิ่งที่นำเสนอผ่านสื่อ มันเหมือนภูมิต้านทานคนไทยเป็นแบบนั้น เหมือนหูดที่เท้า แกะแล้วหนักกว่าเดิม คนที่ทำโฆษณาการตลาด ความจริงมีคำตอบเดียว คือคุณต้องทำให้จริง ทำให้ดี ถ้าทำไม่ดีก็โดนว่าแล้วก็เป็นดราม่า เมื่อเกิดความผิดพลาดแล้วต้องขอโทษให้ไว

หัวหน้าภาควิชาสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเมืองไทยที่มีการทำลักษณะคลิป หรือเมืองนอก เราได้เรียนรู้เสมอ สิ่งที่ลำบากขึ้นสำหรับคนทำวิดีโอคอนเท้นต์ คือต้องทำการบ้านหนักขึ้นเนื่องจากคนอาจดื้อยา อาจตั้งป้อมไว้ก่อนว่าเจตนาหวังอะไรรึเปล่า ซึ่งอาจทำให้คนทำงานด้านสื่อสารทำงานหนักขึ้นเหนื่อยขึ้น อาจต้องหาประเด็นที่น่าสนใจกระตุ้นการอยากรู้และคนที่รับสารเอง ช่องทางโซเชียลมีเดียรับง่าย แชร์ง่าย สิ่งสำคัญคือต้องมานั่งดูว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรเชื่อไม่ควรเชื่อ

ดราม่าขายง่าย ผู้คนสนใจจนเกิดกระแส แต่ใช่ว่าผู้ชมจะเข้าถึงวัตถุประสงค์เพราะอาจหลงทางกับแมสเสจ หรือข้อความลวง ขณะที่ยอดคลิกต่างๆ จำนวนมหาศาล อาจเป็นเพียงตัวเลขที่วัดปริมาณแต่ไม่ได้สะท้อนคุณภาพและความสำเร็จของโฆษณานั้นๆ ได้จริง โดยเฉพาะแคมเปญเพื่อสังคมที่ความตรงไปตรงมาในการประชาสัมพันธ์ยังเป็นหัวใจที่จะเชื่อมโยงให้ผู้ชมขับเคลื่อนไปด้วยกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง