วันนี้ (21 มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 4 ภาค ออกแถลงการณ์คัดค้านและแสดงออก ไม่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์แก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อวานนี้ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผลการเปิดเวทีทำประชาพิจารณ์ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ โดยการจัดเวทีรับฟังความเห็นได้ดำเนินการมาแล้ว 4 ครั้ง ส่วนภูมิภาค 3 ครั้ง และใน กทม. 1 ครั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน
แต่มีความพยายามที่จะล้มเวทีการทำประชาพิจารณ์ ในการรายงานดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามล้มเวทีว่าอาจเป็นประเด็นความไม่เห็นด้วย กรณีการบริหารจัดการในการจัดซื้อยา จากเดิมที่ให้ สปสช.เป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อมีการประสานจัดซื้อยาและได้ส่วนลด ส่วนลดดังกล่าวได้มีการนำมาแบ่งให้กับองค์กรเอกชนในภารกิจต่าง ๆ แต่ร่างกฎหมายใหม่ มีนโยบายจะให้นำเงินหรือส่วนลด มาใช้ในการดูแลประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณในการดูแลประชาชนให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์มากที่สุด พร้อมย้ำว่า รัฐบาลไม่ยกเลิกสิทธิบัตรทอง 30 บาท แต่พยายามจะให้เกิดการดูแลประชาชน เพิ่มวงเงินดูแลต่อคนต่อปี จะไม่ทำให้เกิดภาระกับประชาชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนการพูดคุยหารือกันเมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) ระหว่าง นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์กับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เบื้องต้นกลุ่มดังกล่าว เสนอให้ใช้กระบวนการ "สมัชชาสุขภาพ" เข้ากลไกเปิดเวทีวาระพิเศษ หรือวาระเฉพาะ โดยจะนำความเห็นต่างมาหารือจนตกผลึก โดยจะต้องเชิญเจ้าของความเห็น นักวิชาการอิสระ และประชาชน มาร่วมกันหารือ เพื่อให้ได้การยอมรับ ซึ่งคิดว่าจะได้ข้อสรุปของกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่เป็นสากล