ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปักหมุดของอร่อย...ทำไมต้อง "ไก่เบตง" พ้นจากยะลาก็ไม่ใช่ของแท้!

สังคม
21 มิ.ย. 60
16:46
3,463
Logo Thai PBS
ปักหมุดของอร่อย...ทำไมต้อง "ไก่เบตง" พ้นจากยะลาก็ไม่ใช่ของแท้!
หากใครแวะเวียนมาเบตง จ.ยะลา ต้องไม่พลาดลิ้มลอง “ไก่เบตง” พันธุ์พื้นเมือง เนื้อเหนียวนุ่ม อาหารขึ้นชื่อที่มีราคาสูงสมกับความอร่อย

"ไก่" ทำอะไรก็อร่อย หลายจังหวัดปักหมุด ประกาศความเป็นหนึ่งเดียวกับอาหารที่ทำขึ้นมาจากไก่ ทั้ง "ไก่ย่างเขาสวนกวาง" "ไก่อบโอ่ง" "ไก่หมุน" "ไก่กอและ" แต่สำหรับ "ไก่เบตง" แล้ว เอกลักษณ์ ไม่ได้อยู่ที่ไก่นึ่งหน้าตาดี ใส่มาในจานเปล ราดด้วยซีอิ๊ว และโรยกระเทียมเจียวเท่านั้น แต่หมายถึง "ไก่" ซึ่งเป็นวัตถุดิบ ที่เน้นคุณภาพมาตั้งแต่ สายพันธุ์ การเลี้ยงดู อาหารที่ให้กิน กระบวนการผลิตเป็นอาหาร ก่อนจะขึ้นมาวางเสิร์ฟบนโต๊ะ

"โกเอ็ก" หรือ เอกสิทธิ์ ธารีลาภรักษา สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เบตงครบวงจร ผู้ร่วมก่อตั้ง “โกช้าง ฟาร์มไก่เบตง” ต.ดาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา เล่าถึง "ไก่เบตง" ว่า ลักษณะเด่นของไก่เบตง คือ ปีกสั้น หางสั้น ขนสีเหลืองทอง หงอนจักร แข้งและหนังสีเหลือง ใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน ก็จะได้ไก่หนัก 2.5 กิโลกรัม สามารถจำหน่ายเป็นไก่สับราคาตัวละประมาณ 1,200-1,800 บาท ซึ่งจะมีเนื้อเหนียวนุ่ม นิยมทำเป็นไก่สับ ไก่นึ่ง ไก่ต้มเครื่องยาจีน ข้าวมันไก่ ข้าวหน้าไก่

 

 

โกเอ็ก เล่าถึงที่มาของ “ไก่เบตง” ของดีเมืองยะลา ต่ออีกว่า ไก่เดินทางมาพร้อมกับบรรพบุรุษเชื้อสายจีน จากมณฑลกวางไสของจีนเมื่อ 80 ปีก่อน และเติบโตควบคู่กับชาวเบตง จนกลายเป็นไก่พื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่มีชื่อเสียง จุดสำคัญคือเป็นไก่เบตงสายพันธุ์แท้ เลี้ยงดูอย่างดีด้วยระบบเปิด หรือเลี้ยงตามธรรมชาติ ให้กินข้าวโพด รำข้าว หยวกกล้วย ทำให้ไก่มีมูลค่าและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งมาลองลิ้มชิมรสไก่เบตงที่เลื่องชื่อ

 

 

“มรดกทางวัฒนธรรมจะไม่มีมูลค่า หากไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ มันมีอำนาจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเบตงเพื่อกินไก่”

โกเอ็ก ยังเห็นด้วยกับแนวคิดของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 ในการก่อตั้งหมู่บ้านปลา หมู่บ้านไก่ ที่ไม่ได้มีแต่เกษตรกรที่เลี้ยงปลา หรือเลี้ยงไก่เท่านั้น แต่ต้องมีผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหารที่นำวัตถุดิบมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน

ขณะนี้มีเกษตรกรเลี้ยงไก่เบตงในพื้นที่ประมาณ 2,000 ตัว ซึ่งถือว่าน้อยมาก เนื่องจากต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน 6 เดือน มากกว่าไก่ทั่วไปถึง 4 เท่า จึงต้องการให้มีการรวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร พร้อมแนะรัฐส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองและออกจากระบบทุนนิยม

 

 

“เจตนาดีของการพัฒนาหากไม่สอดคล้องอาจจะทำลายบริบทของชุมชน เกษตรกรยังยากจนเพราะไม่หลุดพ้นจากแนวคิดนายทุนใหญ่ไม่กี่คนที่ครอบงำระดับนโยบายและส่งผลมาตามลำดับ” โกเอ็ก ระบุ

นอกเหนือจากอาหารแล้ว “ไก่เบตง” ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของคนในพื้นที่ ดึงดูดนักเที่ยวท่องให้มาเมืองเบตงแห่งนี้

และบรรดาคนทำ "ไก่เบตง" ยังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "จะกินไก่เบตงแท้ๆ ต้องมาที่นี่เท่านั้น พ้นไปจากยะลาแล้ว ก็ไม่รับรองว่าจะเป็นของแท้"

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง