วันนี้ (26 มิ.ย.2560) ความคืบหน้าคดี ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จับกุมชาวจีน 3 คน เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2560 พร้อมอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งอายัดไว้เป็นของกลางไว้ตรวจสอบเกือบ 40 รายการ ในจำนวนนี้ มีซิมโทรศัพท์เครือข่าย AIS, Dtac และ True MoveH รวม กว่า 3.1 แสนเบอร์
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า วันนี้ ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ส่งตัวอย่างอุปกรณ์ที่กลุ่มคนจีนใช้ดำเนินการ ที่อ้างว่าใช้สำหรับใส่ซิมเพื่อใช้งาน ซึ่งเท่าที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นอุปกรณ์วิทยุคมนาคมแน่นอน ในลักษณะใส่ซิมโทรศัพท์ แล้วใช้ส่งสัญญาณแทนโทรศัพท์มือถือ เพราะมีการใช้งานคลื่นความถี่และเป็นอุปกรณ์ที่นำซิมโทรศัพท์ไปเสียบได้เพื่อส่งสัญญาณ ซึ่งตำรวจส่งมาให้ตรวจสอบ โดยพบว่ามีอุปกรณ์ลักษณะนี้ ประมาณ 400 ตัว โดยเบื้องต้น กสทช.ได้แจ้งความว่ามีและใช้อุปกรณ์วิทยุโทรคมนาคมไว้ในครอบครอง เรื่องนี้เป็นคดีอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
"เรื่องโทษ ถ้านับเป็นจำนวนเครื่องที่พบมี 400 ตัว แต่เราถือว่ารวมเป็นการกระทำความผิดครั้งเดียว ไม่แยกเป็นชิ้น ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวติดคุกกันหัวโต มีอยู่ 400 กว่า ชิ้น ติดชิ้นละ 5 ปีมันเยอะนะ"
ส่วนการตรวจสอบเส้นทางซิมโทรศัพท์ของกลางกว่า 3.1 แสนเบอร์ ขณะนี้ผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย อยู่ระหว่างตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ เกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องส่งให้ตำรวจ ได้แก่ รายละเอียดการใช้งานซิมโทรศัพท์, รายละเอียดรายชื่อบุคคลว่าลงทะเบียนอย่างไร มีชื่อใครบ้าง ซึ่งหากพบว่าเกี่ยวข้องกับชื่อใครที่ลงทะเบียน ทางตำรวจคงเรียกคนลงทะเบียนไปตรวจสอบให้รายละเอียดการเป็นผู้ครอบครองซิมโทรศัพท์ ซึ่ง กสทช.จะให้ค่ายมือถือส่งข้อมูลให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนขยายผล
ส่วนกรณีที่ตำรวจระบุว่า ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคมากนัก เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า เมื่อวานนี้ ได้ประสานกับ พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธธภาค 2 แล้ว ซึ่งประสานว่าต้องการให้สำนักงาน กสทช.ช่วยงานในการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือในข้อมูลกับตำรวจที่ทำคดีนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้เชี่ยวชาญกับ พ.ร.บ.นี้ ซึ่ง กสทช.ยืนยันจะให้ความร่วมมือเต็มที่
ขณะนี้ สำนักงาน กสทช.มีหนังสือเร่งรัดค่ายมือถือทั้ง 3 บริษัท เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อให้ข้อมูลกับตำรวจ และจะเร่งรัดอีกรอบ เนื่องจากทางตำรวจมีหนังสือสอบถามไปที่ กสทช.เป็นระยะเกี่ยวกับข้อมูล ซึ่งถ้าตำรวจไม่เร่งรัด คงไม่ส่งอุปกรณ์มาให้ กสทช.ตรวจสอบเมื่อเช้าวันนี้ ให้คนเอาม้าเร็วส่งเครื่องมาให้ สำหรับกระบวนเส้นทางของซิมโทรศัพท์นั้น กสทช.พิจารณาว่าซิมลงทะเบียนหรือไม่ และคนที่ซื้อซิมนั้นได้ซื้อถูกต้องตามที่ กสทช.กำหนดหรือไม่ รวมทั้งขณะนี้ ยังไม่รู้ว่าได้นำซิมกว่า 3.1 แสนเบอร์ไปใช้แบบผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่ตำรวจรับผิดชอบ และกฎหมายอื่น
"การลงทะเบียนในอนาคตที่ต้องเป็นระบบสแกนลายนิ้วมือ สมมติว่าคนๆ หนึ่งครอบครองซิม 2,900 ซิม แล้วถ้าทางร้านให้ลงทะเบียนซิมได้ 2,900 ครั้ง ผมก็ว่ามันผิดปกติแล้ว ร้านก็ต้องแจ้งแล้วนะว่าคนไปซื้อซิมมากว่า 2,900 ซิม ร้านก็ควรต้องแจ้งแล้ว ถือว่าผิดปกติแล้ว ซึ่งเรื่องแบบนี้ แม้ว่าช่องว่างของกฎหมายจะให้ซื้อซิมได้ แต่เหตุการณ์และพฤติกรรมในการดำเนินการทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว ถ้าซื้อสัก 5 หรือ 10 ซิม มันอาจเป็นไปได้ แค่ถ้าซื้อสัก 400-500 ซิม แล้วสแกนลายนิ้วมือกันก็ผิดปกติแล้ว ส่วนระบบปัจจุบันที่ต้องใช้บัตรประชาชนลงทะเบียน และ"แอพฯ 2แชะ" ก็ต้องให้เป็นเช่นนี้ไปก่อนแล้วปล่อยให้ตำรวจสืบสวน รวมถึงกระบวนการปลายทางที่เอาไปปั่นยอดเพจสินค้า ถ้าเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค ก็ต้องดำเนินการกันอีกกฎหมายนึง"
เมื่อสอบถามว่า กสทช.ทราบข้อมูลทั้งหมดหรือยังว่า ซิมทั้ง 3.1 แสนเบอร์นั้น ลงทะเบียนในชื่อของใคร เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า ทราบทั้งหมดแล้ว เป็นการลงทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา ไม่ใช่การลงทะเบียนในนามดีลเลอร์ ที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งการตรวจสอบของ กสทช.พบว่าคน 1 คน ครอบครองซิมโทรศัพท์สูงสุดประมาณ 2,900 กว่าซิม รองลงมามีการครอบครองคนละ 500, 400, 300, 200 เบอร์ก็มีเช่นกัน ซึ่งทั้ง 3 แสนกว่าเบอร์ ค่ายมือถือกำลังสืบสวนเพื่อชี้แจงว่าการถือครองซิมจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับการกว้านซื้อซิมโทรศัพท์เพื่อกดโหวตในรายการบันเทิงต่างๆ เช่น รายการหน้ากากนักร้อง The Mask Singer หรือการที่ต้องการผลโหวตจากคนดู ซึ่งมีพฤติกรรมการการกว้านซื้อซิมจำนวนมาก พบว่าเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว