วันนี้(28มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟชบุ๊ก เครือข่าย ปปท. ภาคประชาชนสมุทรสง คราม ได้นำภาพชาวต่างชาติ กับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ตกและจับปลากระเบนราหู ขึ้นมาถ่ายเซลฟี่ พร้อมกับเขียนข้อความว่า "ท่านคิดอย่างไรกับการลักลอบตกปลากระเบนราหู ที่อ้างการทำวิจัยให้มหาลัยดังแห่งหนึ่ง ทั้งที่ใบอนุญาตตกเพื่อวิจัยขาดไปเป็นปีก็ยังตกอยู่ได้"
โดยตัวมหาลัยไม่ได้มาบันทึกข้อมูลการวิจัย แต่พฤติกรรมคือ ตกขึ้นมาเพื่อนักท่องเที่ยวเซลฟี่ เย่อกันจนปลาช้ำเลือดอาบปาก ไม่รู้ว่าปลาราหูจะช้ำตายไปกี่ตัว เพราะตรวจสอบแล้วว่ามีการจัดทริปท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวจากอังกฤษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 พบความเชื่อมโยงระหว่าง บ่อตกปลาแถบเจดีย์หัก นายกสมาคมเกี่ยวกับการตกปลา รีสอร์ทหรูริมน้ำแถบตำบลท้ายหาด และทีมวิจัยจากมหาลัยดังแห่งหนึ่ง ว่าร่วมกันลักลอบตกปลากระเบนราหูให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเซลฟี่

ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอุทัย สิงหโตทอง ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมามีการแจ้งการลักลอบตกปลากระเบนราหู ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการประสานมายังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนไทย เจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำกิจกรรมตกปลาหวงห้าม ตามประกาศจังหวัดสมุทรสงคราม ถือว่ามีความผิดตามระเบียบมีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่นถึง 1 แสนบาท โดยจะรวบรวมหลักฐานและหาข้อมูลจากประชาชน เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มบุคคลดังกล่าว

นายอุทัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนสังคม ตั้งข้อสังเกตการอนุญาตให้ตกปลากระเบนและอ้างเพื่อการวิจัย ยอมรับว่าก่อนหน้านี้กรมประมงได้อนุญาตให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เข้ามาทำวิจัยจริง เบื้องต้นใบอนุญาตน่าจะหมดตั้งแต่ปี 2559 และยังไม่แน่ชัดว่าภาพที่ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพเก่า หรือจะมีความเชื่อมโยงกับการลักลอบตกปลาที่เพิ่งเกิดขึ้นเรื่องนี้จะต้องขอตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง

สำหรับปลากระเบนราหูน้ำจืด จังหวัดสมุทรสงครามได้ประกาศ ห้ามทำการการประมงอย่าเด็ดขาดไปตั้งแต่ 23 ส.ค.2553 ยกเว้นการทำประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและได้รับอนุ ญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง
สำหรับโทษการฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรี ตามมาตรา 147 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 71 (1) ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ หนึ่ง 1 หมื่นบาทถึง หนึ่งแสนบาท หรือปรับห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง และ ผู้ใดฝ่าฝืนยังมีข้อกฏหมายตามมาอีกหลายข้อ
ขณะที่ในช่วงเย็นที่ผ่านมา นายอุทัย ให้สัมภาษณ์อีกครั้งโดยระบุว่านักวิจัยที่เคยเข้ามาทำวิจัยเป็นทีมสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับอนุญาตจากกรมประมง แต่ใบอนุญาตวิจัยหมดอายุแล้ว